40 ปี ปฏิรูปเปิดประเทศจีน

เดือนธันวาคม 2018 ครบรอบ 40 ปีการปฏิรูปเปิดประเทศจีน 改革开放40周年

ย้อนไปในเดือนธันวาคมปี 1978 หลังการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนมาตั้งแต่ปี 1949 (ดูเพิ่มเติม :กว่าจะเป็นวันชาติจีน) ในการประชุมคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 11 ครั้งที่ 3 ภายใต้การนำของคณะกรรมการบริหารพรรครุ่นที่ 2 ที่มีเติ้งเสี่ยวผิงเป็นแกนนำ ได้มีการประกาศนโยบายการปฏิรูปและเปิดประเทศ ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญสำหรับการ “เปิดประเทศ” ของจีน

การเปลี่ยวแนวทางจากประเทศสังคมนิยม ที่ยึดติดกับนโยบายของรัฐมาอย่างยาวนาน เติ้งเสี่ยวผิง ได้เสนอ “ทฤษฎีเติ้งเสี่ยวผิง”

วิธีการของเติ้งเสี่ยวผิง คือ การปลดปล่อยกำลังการผลิต และ เปิดประเทศ เพื่อ ดึงทรัพยากรการผลิตจากภายนอกซึ่งเติ้งเสี่ยวผิงเชื่อว่าจะเป็นวิถีทางสร้างสังคมนิยมของจีนให้ทันสมัย ตามที่เติ้งเสี่ยวผิงเคยพูดประโยคที่ว่า 

解放思想,实事求是 (เจี่ยฟ่างซือเสี่ยง, สือซื่อฉิวซื่อ) ปลดปล่อยความคิด ยึดติดความจริง

โดยเติ้งเสี่ยวผิงเชื่อว่าการจะนำพาประเทศจีนสู่ความทันสมัยนั้นต้องก่อเกิดจากความคิดที่ทันสมัยก่อน นั้นคือต้องคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลตามหลักวิทยาศาสตร์ เคารพกฎแห่งการพัฒนาของสรรพสิ่ง ตลอดจนยึดมั่นแนวคิดการพัฒนาที่เป็นจริงเชิงปฏิบัติ เป็นไปอย่างรอบด้าน และมีความเป็นมหาชน 

ซึ่งแน่นอนว่า ในช่วงแรก แนวคิดนี้ได้รับการโต้แย้ง และตั้งคำถามจากหลายฝ่ายว่าประเทศจีนภายใต้ระบบสังคมนิยม กำลังเดินไปสู่ระบบทุนนิยมมากกว่า แต่ในปัจจุบันนี้ เราก็ได้เห็นแล้วว่าภายใต้การทำตามแนวคิดของทฤษฎีเติ้งเสี่ยวผิง ทำให้ประเทศจีนในวันนี้เติบโตอย่างยิ่งใหญ่ อย่างที่หลายคนไม่เคยคาดคิดมาก่อน

ตัวอย่างการปฏิรูปเศรษฐกิจของจีน 

เสี่ยวกังโมเดล – ต้นแบบการปฏิรูปด้านการเกษตรของจีน 

หมู่บ้านเสี่ยวกัง อยู่ในอำเภอเฟิ่งหยาง มณฑลอันฮุย ทางภาคกลางของจีน ย้อนกลับไปเมื่อ 40 ปีก่อน (ค.ศ. 1978) เกษตรกรหมู่บ้านเสี่ยวกัง 18 คน ได้เสี่ยงชีวิตทำสัญญาลับฉบับหนึ่ง ที่มีข้อกำหนดว่า จะได้รับการแบ่งปันที่ดินของหลวง เพื่อทำการเพาะปลูก และสามารถเก็บผลผลิตส่วนเกินไว้กับครัวเรือนได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ขัดกับนโยบายของรัฐบาลจีนในเวลานั้น

ชาวนา 18 คนในหมู่บ้านเสี่ยวกั่ง ร่วมกันคิดวิธีแบ่งที่ดินของส่วนรวมไปทำการเพาะปลูก ไม่งั้นทั้งครอบครัวคงอดตาย แต่การแบ่งที่ดินส่วนรวมในสมัยนั้น ถือเป็นการกระทำผิดมหันต์ถึงขั้นต้องถูกจับเข้าคุก หรือเสี่ยงต่อการถูกประหารชีวิต แต่ชาวนา 18 คนนี้โชคดีมาก เพราะปีเดียวกัน มีการจัดการประชุมคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 11 ครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นการประชุมครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์จีน โดยที่ประชุมประกาศนโยบายการปฏิรูปและเปิดประเทศ ชาวนาในหมู่บ้านเสี่ยวกั่งแทนที่จะถูกจับเข้าคุก กลับกลายเป็นผู้ริเริ่มการปฏิรูประบบที่ดินของจีน จนส่งผลต่อการปฏิรูประบบเศรษฐกิจทั่วประเทศ หมู่บ้านเสี่ยวกั่งจึงได้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้านแห่งแรกที่ดำเนินการปฏิรูประบบที่ดินของจีน

นายเหยียน หงชาง วัย 69 ปี เป็นหนึ่งในชาวนา 18 คนที่พิมพ์ลายนิ้วมือบนสัญญาแบ่งที่ดินเมื่อ 40 ปีก่อน เขาเป็นผู้ร่างสัญญาที่มีเนื้อความว่า “พวกเราพิมพ์ลายนิ้วมือและเซ็นสัญญาแบ่งที่ดินให้กับแต่ละครอบครัวเพื่อทำการเพาะปลูก รับรองว่าจะมอบผลผลิตให้แก่ส่วนรวม ไม่ขอเงินขอข้าวจากรัฐอีกต่อไป หากทำไม่ได้ ยอมถูกประหารชีวิตหรือจำคุก ขอให้คนในหมู่บ้านช่วยเลี้ยงลูกให้โตจนครบ 18 ปี”

เหยียน หงชางหวนนึกถึงบรรยากาศการแอบเซ็นต์สัญญาแบ่งที่ดินเมื่อ 40 ปีก่อน เขากล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ตอนนั้นคิดในใจว่า หากถูกประหารชีวิตจริงๆ ยังไงก็ยังมีสัญญาฉบับนี้ให้ลูกทราบว่า ผมทำไม่ใช่เพื่อตัวเอง ผมทำเพื่อทุกคน ตอนนั้นอดอยากไม่มีข้าวกิน ต้องออกไปขอทานที่หมู่บ้านอื่น ถ้าขอไม่ได้ก็อดกิน

เมื่อ 40 ปีก่อน หมู่บ้านเสี่ยวกั่งมี 20 ครัวเรือน รวม 115 คน มีที่ดิน 304 หมู่ (1 ไร่เท่ากับ 2.4 หมู่) ครอบครัวของเหยียน หงชางมี 6 คน ได้รับที่ดิน 18 หมู่

เฉพาะปีแรกของการแบ่งที่ดิน ชาวบ้านในหมู่บ้านเสี่ยวกั่งก็ไม่ต้องออกไปขอทานอีกแล้ว เพราะทั้งหมู่บ้านสามารถผลิตธัญญาหารได้ถึง 65,000 กิโลกรัม หลังจากมอบให้กับรัฐ 30,000 กิโลกรัมแล้ว ที่เหลือเก็บไว้กินเอง

แม้การเก็บเกี่ยวได้ผลดี และไม่ต้องห่วงเรื่องปากท้องอีก แต่เหยียน หงชางกับอีก 17 คนก็ยังคงมีความกังวล เพราะในช่วงเริ่มต้นของการปฏิรูประบบเศรษฐกิจจีน เรื่องการแบ่งที่ดินให้กับชาวนา ถูกวิพากษ์วิจารณ์ตลอด สัญญาที่มีการพิมพ์ลายนิ้วมือสีแดงฉบับนั้น เหยียน หงชางซ่อนไว้บนคานบ้านตลอด

วันที่ 1 มกราคมปี 1982 รัฐบาลจีนประกาศเอกสารหมายเลข 1 เกี่ยวกับการปฏิรูปชนบท โดยระบุอย่างชัดเจนว่า การแบ่งที่ดินให้กับครอบครัวชาวนาเพื่อรับเหมาไปทำการเพาะปลูก เป็นระบบการผลิตของเศรษฐกิจส่วนรวมแห่งสังคมนิยม และเอกสารหมายเลข 1 ของรัฐบาลกลางในปีถัดมาระบุว่า ระบบการรับเหมาที่ดินถือเป็นการกระทำที่สร้างสรรค์อันยิ่งใหญ่ของเกษตรกรจีนภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์ ปี 1984 รัฐบาลจีนออกนโยบายโดยกำหนดระยะเวลาของการดำเนินระบบรับเหมาที่ดินดังกล่าวเป็นเวลา 15 ปี จึงทำให้บรรดาเกษตรกรจีนหมดความกังวล

ระบบการแบ่งที่ดินให้กับครอบครัวชาวนาเพื่อทำการเพาะปลูก ถือเป็นก้าวแรกของการปฏิรูปชนบทจีน หลังจากครบ 15 ปีแล้ว ปี 2001 กฎหมายว่าด้วยการรับเหมาที่ดินชนบทของจีนกำหนดว่านโยบายเกี่ยวกับการใช้ที่ดินชนบทจะไม่เปลี่ยนแปลงภายในเวลา 30 ปี การรับเหมาที่ดินรอบที่ 2 นับจากปี 1999 ถึงปี 2028 อีกทั้งมีการเซ็นสัญญากับผู้รับเหมาที่ดินด้วย ซึ่งหมายความว่า เกษตรกรได้สิทธิ์ใช้ที่ดินเป็นเวลา 30 ปี ซึ่งจะนำไปสู่การเกษตรที่เชื่อมกับการตลาด นอกจากทำการเพาะปลูกแล้ว ยังสามารถเลี้ยงไก่และหมู ปลูกผักและผลไม้ได้

ผลจากการกระทำของคน 18 คนในหมู่บ้านเสี่ยวกัง ได้กลายเป็นต้นแบบการปฏิรูปด้านการเกษตรของจีน และกลายเป็นแนวทางพื้นฐานของนโยบายเศรษฐกิจด้านการเกษตรของรัฐบาลจีนในทุกวันนี้

การเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ในเดือนมกราคม 1979 เมื่อมีจดหมายจากผู้ประกอบการโรงงานแห่งหนึ่งในฮ่องกง ยื่นเรื่องขอกลับมาตั้งโรงงานในกว่างโจ่ว เติ้งเสี่ยวผิง ได้ถือโอกาสนี้ สั่งการว่า “เรื่องนี้กว่างโจวสามารถปล่อยให้ทางผู้ประกอบการจัดการได้” ซึ่งการตัดสินใจนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้น เพราะจากนั้นรัฐบาล ก็ได้อนุมัติให้ฝ่ายคมนาคมของสำนักงานส่งเสริมการค้าฮ่องกง จัดตั้งเขตอุตสากรรมเสอโข่ว ที่เมืองเสิ่นเจิ้น

จากนั้นในปีเดียวกัน สีจังซิน เลขาธิการแห่งมณฑลกว้างตุ้ง ได้เสนอต่อที่ประชุมคณะทำงานของรัฐบาลกลางในวันที่ 5 เมษายน ขอให้ส่วนกลางอนุญาตให้มณฑลกวางตุ้ง เปิดเขตแปรรูปสินค้าส่งออกที่ เซิ่นเจิ้น จูไห่และซันโถว (ซัวเถา) เพื่อดึงนักธุรกิจจางฮ่องกงและมาเก๊าเข้ามาลงทุนทำธุรกิจในประเทศจีน ซึ่งข้อเสนอนี้ได้รับการสนับสนุนจากเติ้งเสี่ยวผิงอย่างมาก แต่เนื่องจากทางส่วนกลางไม่มีงบประมาณสนับสนุน จึงอนุญาตให้ทางมณฑลกว่างตงไปดำเนินการเอง  

โดยพื้นที่ที่สร้างขึ้นมานี้ ถือเป็น “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ซี่งเป็นหนทางในการดึงดูดเงินทุน เทคโนโลยี และระบบการบริหารจัดการต่าง ๆ จากต่างประเทศ อีกทั้งยังถือเป็น พื้นที่ทดลอง เพื่อให้ได้เรียนรู้แนวทางการในดำเนินธุรกิจในระบบเศรษฐกิจ 

เซิ่นเจิ้น เมืองแรกที่จัดตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจจีน
เซินเจิ้นถือเป็นเมืองแรกของจีนที่รัฐบาลจีนจัดตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษในปี 2523 (ในระยะแรกครอบคลุมพื้นที่ 4 เขต 395.81 ตร.กม. ได้แก่ เขตฝูเถียน หลัวหู หนานซานและเหยียนเถียน) และตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2553 ได้ขยายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษครอบคลุมทั้งเมือง  

เมืองเซิ่นเจิ้น สร้างรูปแบบใหม่ ๆ ให้กับจีน เช่น
– มีคำขวัญที่ว่า เวลาคือเงิน ผลกำไรคือชีวิต
– การสร้างห้างสรรพสินค้า World Trade Center ในเมืองเซิ่นเจิ้น สร้างเสร็จ 1 ชั้น ภายใน 3 วัน จนเป็นที่มาของคำแสลงว่า “อัตราความเร็วเซิ่นเจิ้น”
– มีการล้างความคิด การทำงานแบบ “หม้อข้าวเหล็ก” ซึ่งสื่อถึงตำแหน่งงานที่มั่นคง ไม่เปลี่ยนแปลง แล้วเปลี่ยนแปลงมาเป็นการใช้รูปแบบการเปิดบริษัท และการถือหุ้น
การเปลี่ยนแปลงของเซิ่นเจิ้น ทำให้เริ่มเกิดคำถามว่าวิธีการของเซิ่นเจิ้น ใช้ได้จริงหรือ?

เดือนมกราคม 1984 ผ่านไป 5 ปีหลังจากรัฐบาลจีนประกาศเปิดเศรษฐกิจพิเศษ เติ้งเสี่ยวผิงได้เดินทางไปสำรวจพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษเป็นครั้งแรก ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ นา ๆ ที่มีต่อแนวทางการเปิดพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ

เติ้งเสี่ยวผิง ได้เดินทางไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษเซิ่นเจ้น ได้รับฟังรายงานจากเจ้าหน้าที่ เดินทางไปสังเกตการณ์งานก่อสร้าง เยี่ยมชมเขตเศรษฐกิจพิเศษจูไห่ ซึ่งเติ้งเสี่ยวผิงได้ชมว่าที่นี่เป็นเขตเศรษฐกิจที่ดี

หลังจากเยี่ยมชม เซิ่นเจิ้น และจูไห่ และกลับไปยังเมืองกวางโจว เติ้งเสี่ยวผิงได้เขียนอักษรจีนด้วยพู่กันจีน มอบไว้แก่เมืองเซิ่นเจิ้นว่า

“ความก้าวหน้าและประสบการณ์ของเขตเศรษฐกิจพิเศษเซิ่นเจิ้น  ได้พิสูจน์แล้ว่า นโยายการก่อตั้งเขตพิเศษ เป็นแนวทางที่ถูกต้องอย่างแท้จริง”

40 ปีการปฏิรูป และเปิดประเทศ

นายหวู่เสี่ยวโป นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังของจีนได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับจีนกับการเปิดประเทศครบรอบ 40 ปีกล่าวว่า 

“เศรษฐกิจจีนที่เปลี่ยนแปลงมาจนปัจจุบันมาจาก 4 ปัจจัยหลักด้วยกัน คือ
1.นวัตกรรมการเปลี่ยนแปลงของบริษัท ที่ผ่านมาการก็อปปี้ของจีนก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่
2.ยอมรับได้ในความไม่เท่าเทียม จีนก่อนหน้าจนเท่าเทียมกลายเป็นยอมให้คนบางกลุ่มมีเงินขึ้นมาก่อน
3. ความได้เปรียบจากจำนวนประชาการเกิด Gigantic effect
4.การค้นพบทางเทคโนโลยีใหม่ๆที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ตลอด”

ในปี 1978 ขนาด GDP ของจีนต่อเศรษฐกิจโลกคือ 1.8% ในตอนนั้นจีนเป็นประเทศที่ยากจนแร้นแค้น แต่ ณ เวลานี้ 2018 จีนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกคิดเป็นเปอร์เซ็นต์เท่ากับ 14.8% ของทั้งโลก และในปี 1978 GDP ต่อหัวของจีน 384 ดอลล่าร์ ในจำนวนสองร้อยกว่าประเทศทั่วโลกจีนถูกจัดอันดับ 7 จากรั้งท้าย ในปีนี้ GDP ต่อหัวของจีน 9281 ดอลล่าร์ จากตัวเลขนี้ทำให้รู้ว่าจีนขึ้นมาอยู่ในระดับประเทศที่มีรายได้ปานกลาง มาดู Gini index หรือดัชนีความยากจน ในปี 1978 ประชาชนได้เงินเดือน 100 หยวนค่าใช้จ่ายของอาหารการกินอยู่ที่ 60% ของรายได้แต่ในปัจจุบันรายได้ 100 หยวนใช้ในอาหารการกิน 39% ที่เหลือ 61% ใช้ในด้านที่ยกระดับชีวิตให้ดีขึ้น

ปี 1978 จีนไม่มีอาคารหรือตึกที่สูงกว่า 200 เมตร ในปีนี้ 10 ตึกสูงระดับโลก มี 8 ตึกอยู่ที่จีน ในปี 1978 จีนไม่มีบริษัทเอกชน และในปี 2017 500บริษัทระดับโลกมีบริษัทจีนอยู่ 115 บริษัทและในจำนวนนี้เป็นบริษัทเอกชน 100% มากกว่า 25 บริษัท ในปี 1978 คนจีนยากจนทั่วหน้าและเท่าเทียม คำว่า“ชนชั้นกลาง” ในยุคนั้นถูกดูถูก

ต่อมาในปี 2018 ชนชั้นกลางในจีนเพิ่มขึ้นเป็น 230 ล้านคนและทุกวันนี้แบรนด์หรูหราทั่วโลกมีคนจีนเป็นผู้ซื้อหลักมากกว่า 70% อายุเฉลี่ยของคนจีนพวกนี้ 39 ปี

ในปี 1978 จีนมีการผลิตและบริโภครถยนต์ประมาณ 1 แสนคัน ทุกวันนี้จีนเป็นตลาดผลิตและบริโภครถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในปีที่แล้วจีนผลิตรถยนต์ 30 ล้านคัน รถยนต์กลายเป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นกลางจีนไปแล้ว ดังนั้นนอกจากเป็นตลาดการผลิตที่ใหญ่ระดับโลกแล้วยังเป็นตลาดบริโภคระดับโลกอีกด้วย

การเติบโตขึ้นมาของจีนได้รับความสนใจจากนักเศรษฐศาสตร์ตะวันตก ที่มีการทำวิจัยและให้คำนิยามการเติบโตต่างๆนานา จนในปี 1991 นายโรนัลด์ โคส นักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบล ได้เขียนหนังสือที่มีชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงจีน ให้ข้อสรุปเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของจีน 3 ข้อดังนี้คือ

  1. ปี 1978 ที่จีนเปิดประเทศถือว่าเป็นความสำเร็จของมนุษย์ชาติในด้านการปฏิรูปเศรษฐกิจตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา
  2. เศรษฐกิจของจีนในอีกกี่ 10 ปีข้างเป็นไปได้อย่างมากที่จะนำหน้าอเมริกา
  3. การพัฒนาของเศรษฐกิจจีนไม่สามารถใช้ระบบเศรษฐกิจของตะวันตกมาอธิบายได้ จีนประสบความสำเร็จในการปฏิรูปเกิดจากพฤติกรรมมนุษย์ที่เกินความคาดเดา

ในด้านของนักเศรษฐศาสตร์ดังของจีนศาสตราจารย์โจวฉีเหริน กล่าวว่าเศรษฐกิจจีนสิบปีที่ผ่านมากลายเป็นขนาดเศรษฐกิจอันดับสองของโลกได้เพราะ “ปลาใหญ่ น้ำเยอะ” น้ำหมายถึงสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและระบบ ปลาหมายถึงภาคธุรกิจ ทั้งสองอย่างนี้ไปด้วยกัน น้ำไม่ดีปลาอยู่ไม่ได้ น้ำเยอะแต่ไม่มีปลาก็ไม่ได้

จุดเปลี่ยนประเทศจีนคือจุดไหน ?

มีคำถามว่าจีนมีจุดเปลี่ยนประเทศที่ตรงไหน ? บางคนบอกว่า คือจุดที่เติ้งเสี่ยวผิงมาเยือนสิงคโปร์ ไทย และมาเลเซีย ในเดือนธันวาคมเมื่อ 40 ปี ที่แล้ว ก่อนที่จะกลับไปพลิกโฉมประเทศจีน (ไทยเราก็เคยเป็นตัวอย่างให้จีน)

บางคนบอกว่า คือจุดที่เติ้งเสี่ยวผิงแกล้งหลับตาข้างหนึ่งปล่อยให้หมู่บ้านเสี่ยวกังทำการทดลองสัญญาเลือด

บางคนบอกว่า คือจุดที่เติ้งเสี่ยวผิงขีดเส้นเมืองเสินเจิ้นให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ

แต่จุดเปลี่ยนประเทศจีนที่แท้จริงก็คือ การเปลี่ยนวิธีคิดของผู้นำ จากที่เน้นลัทธินิยมและการรวมศูนย์อำนาจ เปลี่ยนมาเป็นการเน้นการทดลอง เน้นความยืดหยุ่น ขณะเดียวกันก็เก่งพอที่จะสร้างศรัทธาและภาพทิศทางใหญ่ที่ชัดเจนให้คนทั้งประเทศเห็นพ้องและพร้อมทุ่มเทแรงกายแรงใจร่วมกัน

ที่มา :

จีน 1978-2018 : 40 ปีกับความเปลี่ยนแปลง

เติ้งเสี่ยวผิงกับจุดเปลี่ยนประเทศจีน

คมคิดเติ้งเสี่ยวผิง

เติ้งเสี่ยวผิง สุดยอดนักปฏิรูป 

เติ้งเสี่ยวผิงกับจุดเปลี่ยนประเทศจีน

หมู่บ้านเสี่ยวกัง-ต้นแบบการปฏิรูปด้านการเกษตรของจีน

40 ปี การเปลี่ยนแปลงของหมู่บ้านเสี่ยวกั่ง การพัฒนาของชนบทจีน (1)