พิธีส่งคืนเกาะฮ่องกงให้แก่จีน

ฮ่องกงเป็นเขตปกครองพิเศษของประเทศจีน แต่เดิมนั้นฮ่องกงเป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมง คำว่าฮ่องกง เป็นภาษากวางตุ้ง ส่วนภาษาจีนกลางจะอ่านว่า เซียงก่าง 香港 แปลว่า ท่าเรือหอม เนื่องจากในอดีตบริเวณเกาะฮ่องกง เป็นแหล่งปลูกไม้หอม และมีการขนถ่ายสินค้ากันบริเวณนี้เพราะเป็นท่าเรือน้ำลึก

ภาพวาดเกาะฮ่องกงในปี 1840

ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ได้มีเรือของกองทัพอังกฤษนำโดยกัปตันชาลล์อีเลียต (Charles Elliot) ได้ล่องเรือมาทางฝั่งทะเลจีนใต้ผ่านแหลมเกาลูน และมาพบเกาะแห่งหนึ่งซึ่งได้กลิ่นหอมมาจากเกาะนั้น จึงจอดเรือและขึ้นฝั่ง ส่งล่ามลงไปสอบถาม ได้ความว่าเป็นท่าเรือใช้ขนถ่ายไม้หอม

เมื่อกัปตันอีเลียตเดินทางกลับสู่อังกฤษและได้รับการแต่งตั้งให้ไปประจำการฝ่ายการพาณิชย์ของอังกฤษในภาคพื้นเอเซีย ในขณะนั้น ประเทศอังกฤษซึ่งปกครองโดยพระนางวิกตอเรีย กำลังต้องการอาณานิคมในแถบทะเลจีนใต้ เพื่อใช้เป็นที่จัดส่งสินค้าหรือฝิ่น พอดีกับที่ฝ่ายอังกฤษและจีน กำลังมีปัญหาเรื่องการค้าฝิ่นในแถบกวางตุ้งของจีน จนทำให้เกิดสงครามฝิ่นครั้งที่ 1 ขึ้น ในปี 1839 กัปตันอีเลียตจึงตัดสินใจยกพลขึ้นบกที่ท่าเรือหอม และประกาศให้ดินแดนแถบนั้นเป็นของอังกฤษ ในวันที่ 26 มกราคม 1841

สงครามฝิ่น

หลังจากนั้นจีน และอังกฤษก็มียังมีปัญหากันเรื่องการค้าฝิ่นกันจนทำให้เกิดสงครามฝิ่นครั้งที่สอง อังกฤษได้บีบบังคับให้จีนทำสัญญา โดยให้อังกฤษเช่าเกาะฮ่องกงเป็นเวลา 99 ปี ซึ่งสัญญาเช่ากำหนดวันหมดสัญญาไว้วันที่ 30 มิถุนายน 1997 เมื่อครบสัญญาแล้วอังกฤษจะส่งคืนเกาะฮ่องกงให้แก่จีนในวันที่ 1 กรกฎาคม 1997

การเข้าครอบครองเกาะฮ่องกงของอังกฤษ

หลังจากที่อังกฤษได้ยึดครองเกาะฮ่องกง ก็ได้มีการส่งผู้สำเร็จราชการมาประจำการ และได้มีการวางรากฐานการศึกษา การปกครอง และผังเมือง จนฮ่องกงได้กลายเป็นศูนย์กลางพาณิชย์และประตูสู่ประเทศจีน

ทั้งนี้ก่อนจะถึงวันครบกำหนดส่งมอบคืนเกาะฮ่องกงให้กับประเทศจีน ได้มีการเจรจาระหว่างอังกฤษ โดยนางมาร์กาเร็ต แทตเชอร์นายกรัฐมนตรีอังกฤษในขณะนั้นกับนายเติ้งเสี่ยวผิงผู้นำฝ่ายจีน เพื่อเจรจาขอเช่าเกาะฮ่องกงต่อแต่ได้รับการปฏิเสธ และในปีเดียวกัน ผู้นำทั้งสองจึงเปิดเจรจาอีกครั้ง และลงนามในสัญญาโดยมีสาระสำคัญว่าอังกฤษจะยอมส่งมอบคืนเกาะฮ่องกงให้กับจีน และจีนได้ให้สัญญาว่าจะปกครองฮ่องกงในฐานะ “หนึ่งประเทศสองระบบ” ไปอีก 50 ปี

นายเติ้งเสี่ยวผิง และนาง นางมาร์กาเร็ต แทตเชอร์
ดูเพิ่มเติม : ลีลาการฑูตของเติ้งเสี่ยวผิง กรณีเจรจาคืนเกาะฮ่องกง

ต่อมาจนถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 1997 อังกฤษได้มีพิธีส่งคืนเกาะฮ่องกงให้แก่จีนอย่างยิ่งใหญ่

ลำดับพิธีการส่งมอบเกาะฮ่องกงให้แก่จีน

ลำดับพิธีการส่งมอบเกาะฮ่องกง

ในช่วงเวลาประมาณ 16.00 น. ของวันที่ 30 มิถุนายน 1997 นาย คริส แพทเทน (Chris Patten) ผู้ว่าการเกาะฮ่องกงชาวอังกฤษคนสุดท้าย ได้ออกจากบ้านพัก มีการลดธงจากยอดเสา จากนั้นเวลา 18.30 น. กองทัพอังกฤษ ได้มีพิธีเลี้ยงอำลาซึ่งมีเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ มกุฎราชกุมารแห่งราชวงศ์อังกฤษ เข้าร่วมพิธี ในระหว่างงานมีการเดินสวนสนามของทหารอังกฤษที่ประจำที่เกาะฮ่องกง มีลดธงชาติอังกฤษจากยอดเสา โดยระหว่างนั้นมีฝนตกลงมา ยิ่งทำให้บรรยากาศทางฝั่งอังกฤษยิ่งเศร้าจากการจากลา

จากนั้นเวลาประมาณ 20.00 น. ของคืนวันที่ 30 มิถุนายน 1997 ยานยนต์ 500 คันของกองทัพจีนพร้อมกำลังทหาร ได้เริ่มเคลื่อนพลเข้าสู่เกาะฮ่องกงผ่านทางเซิ่นเจิ้น

23.30น. พิธีส่งคืนเกาะฮ่องกงให้แก่จีนได้เริ่มต้นขึ้น โดยมีพิธีเชิญธงชาติอังกฤษ และธงฮ่องกงที่อยู่ในการปกครองของอังกฤษ ลงจากยอดเสา ด้วยเพลง God Save the Queen

พิธีส่งคืนเกาะฮ่องกงให้แก่จีน

00.00 น. ของวันที่ 1 กรกฎาคม 1997 มีพิธีเชิญธงชาติจีนและธงประจำเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ขึ้นสู่ยอดเสา เป็นสัญลักษณ์ว่าฮ่องกงได้กลับคืนสู่จีนแล้ว พร้อมกับมีการจุดพลุเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่

ธงชาติจีน พร้อมกับ ธงประจำเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ขึ้นสู่ยอดเสา

ธงชาติจีน
ข้อมูลเพิ่มเติม กว่าจะมาเป็นวันชาติจีน

ธงประจำเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ธงรูปดอกชงโคห้ากลีบสีขาวบนพื้นสีแดง ภายในใจกลางของแต่ละกลีบนั้นมีรูปดาวแดงกลีบละ 1 ดวง

ธงฮ่องกง

01.40 น. วันที่ 1 กรกฎาคม 1997 นาย คริส แพทเทน (Chris Patten) ผู้ว่าการเกาะฮ่องกงชาวอังกฤษคนสุดท้าย พร้อมด้วย เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ มกุฎราชกุมารแห่งราชวงศ์อังกฤษ เดินทางด้วยเรือ HMY Britannia ออกจากเกาะฮ่องกง

ในระหว่างนั้น เขตบริหารพิเศษฮ่องกงได้เริ่มต้นขึ้นและได้มีพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ผู้บริหารเกาะฮ่องกง นำโดยนายตง ชี หว่า ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง

จากนั้นได้มีการปลดเครื่องหมายตราสัญลักษณ์เกาะฮ่องกงภายใต้การบริหารของอังกฤษออกและติดสัญลักษณ์ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง ของประเทศจีนขึ้นแทน พร้อมกันนั้น เจ้าหน้าที่ของฮ่องกงเช่นตำรวจได้มีการเปลี่ยนตราสัญลักษณ์ที่เครื่องแบบ

เช้าวันรุ่งขึ้น กองทัพของสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้เคลื่อนพลเข้าสู่ฮ่องกง ทั้งทางแผ่นดิน น้ำ และอากาศ และการจัดประชุมพร้อมการเฉลิมฉลองการรับฮ่องกงคืนสู่จีน

ดูเพิ่มเติม

ลีลาการฑูตของเติ้งเสี่ยวผิง กรณีเจรจาคืนเกาะฮ่องกง

ทำไมอังกฤษจึงยอมคืนเกาะฮ่องกง และไม่ใช้กำลังยึดเกาะฮ่องกง