แม่น้ำยามหิมะโปรย 江雪

แม่น้ำยามหิมะโปรย 江雪 เป็นบทกวีของหลิวจงหยวน 柳宗元 นักกวีในสมัยราชวงศ์ถัง

江雪 : 柳宗元

千山鸟飞绝,万径人踪灭。
孤舟蓑笠翁,独钓寒江雪。

แม่น้ำยามหิมะโปรย : หลิ่วจงหยวน

พันขุนเขา ไร้นกบิน
ทางทั้งหมื่นไร้ร่องรอยเท้าคน
เรือน้อยโดดเดี่ยว ชายชราสวมเสื้อหญ้าแฝกและหมวกกุ้ยเล้ย
ตกปลาเดียวดายในแม่น้ำเย็นเยือกยามหิมะโปรย

ผู้แต่งกวีบทนี้คือ หลิ่วจงหยวน 柳宗元 (ค.ศ.๗๗๓ – ๘๑๙) เป็นคนอำเภอหย่งจี้ มณฑลซานซี นอกจากเป็นกวีแล้ว ยังเป็นนักเขียนร้อยแก้วที่มีผลงานยอดเยี่ยม ได้เข้ารับราชการ แต่มีเรื่องขัดแย้งกับผู้มีอำนาจ จึงถูกส่งไปหย่งโจว อำเภอหม่าผิง ในภูมิภาคปกครองตนเองก่วงซี (กวางสี)

รูปปั้นของหลิ่วจงหยวนที่สวนหลิ่วโฮ่ว 柳侯公园
เดิมคือวัดหลิ่วโจว 柳州
สร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่หลิ่วจงหยวน

ในด้านเกร็ดประวัติของการประพันธ์นั้นไม่มีข้อมูลว่า หลิ่วจงหยวนแต่งบทกวีนี้เมื่อไร แต่น่าจะก่อน ค.ศ.๘๑๕ ช่วงที่อยู่เมืองหย่งโจว (永州) บทกวีพรรณนาถึงความเงียบเหงาความอ้างว้างโดดเดี่ยว และภาพนักตกปลาผู้เฒ่าที่ฐานะไม่ดี นั่งในเรือน้อยโดดเดี่ยว ตกปลาเดียวดายท่ามกลางสายลมและหิมะโปรยปรายเย็นยะเยือก เป็นการสะท้อนถึงสภาพของเขาเองในตอนนั้นที่ตกต่ำ เงียบเหงา โดดเดี่ยว มีภยันตรายรอบด้าน แต่จิตใจยังเข้มแข็งต่อสู้

คำว่า jiang xue 江雪 (เจียงเสวี่ยว) แปลตามศัพท์ว่า แม่น้ำหิมะ แต่ในที่นี้กวีหมายถึง แม่น้ำยามหิมะโปรย เพราะน้ำในแม่น้ำมิได้แข็งไปหมด ยังตกปลาได้ บทกวีนี้พรรณนาภาพได้ดีมาก ภาพความเงียบเหงาตัดกับภาพความโดดเดี่ยว เดียวดาย อ้างว้าง

หมายเหตุ : ข้อมูลจากหนังสือ​ “หยกใสร่ายคำ”
บทพระราชนิพนธ์แปลในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ติดตามเรื่องเล่าจีน ได้ที่ ช่อง Chinatalks / Fanpage Chinatalks