ลีลาการฑูตของเติ้งเสี่ยวผิงในการเจรจาคืนเกาะฮ่องกงให้แก่จีน

หนังสือ “บันทึกลีลาการทูตของเติ้งเสี่ยวผิง” เขียนโดยจอง เหวิน และ เหวินฟู นักวิจัยจากสำนักวิจัยหนังสือที่มีค่าทางประวัติศาสตร์และสำนักวิจัยประวัติศาสตร์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน หน่วยงานในสังกัดคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน หนังสือเล่มนี้บันทึกผลงานด้านการทูต โดยเล่าถึงเหตุการณ์สำคัญๆ ทางการทูตที่เติ้งเสี่ยวผิงมีส่วนร่วม และการติดต่อไปมาหาสู่กันกับนักการเมืองที่มีชื่อเสียงทั่วโลกของเติ้งเสี่ยวผิง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงเสน่ห์ทางด้านการทูต และการเป็นนักยุทธศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ของเติ้งเสี่ยวผิง

เติ้งเสี่ยวผิง

วันที่ 22 กันยายนปี 1982 นางมาร์กาเร็ต แทตเชอร์นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอังกฤษเดินทางมาเยือนประเทศจีน สื่อตะวันตกได้ติดตามรายงานข่าวการเยือนจีนของนายกรัฐมนตรีอังกฤษครั้งนี้อย่างใกล้ชิด เพราะระหว่างการเยือน นางมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ และผู้นำจีนจะเปิดการเจรจาเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาฮ่องกง

ฮ่องกงตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกของปากทางไหลออกสู่ทะเลของแม่น้ำจูเจียง อยู่ใกล้กับเมืองเซินเจิ้น มีพื้นที่ทั้งหมดราว 1,076 ตารางกิโลเมตร ซึ่งประกอบด้วยเกาะฮ่องกง 79.77 ตารางกิโลเมตร เขตจิ่วหลง(เกาลูน)11.7 ตารางกิโลเมตร และเขตซินเจี้ย(เขตดินแดนใหม่) 984.53 ตารางกิโลเมตร ฮ่องกงมีประชากรประมาณ 6,100,000 คน ในจำนวนนี้ มีชาวจีนคิดเป็น 96% ของประชากรทั้งหมดในฮ่องกง ถึงแม้ว่าฮ่องกงมีพื้นที่ และทรัพยากรธรรมชาติไม่มากนัก แต่ทำเลที่ตั้งที่ได้เปรียบทำให้ฮ่องกงกลายเป็นท่าเรือน้ำลึกระหว่างประเทศที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม จีนต้องสูญเสียฮ่องกงให้กับอังกฤษ จากการทำสงครามรุกรานจีนของอังกฤษ

ปี1840 อังกฤษก่อสงครามรุกรานจีน ซึ่งเรียกกันว่า สงครามฝิ่่นครั้งแรก สงครามครั้งนี้สิ้นสุดด้วยจีนเป็นฝ่ายแพ้ หลังจากนั้น สังคมจีนเข้าสู่ยุคกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินาที่ลำบากยากแค้น วันที่ 26มกราคม ปี1841 อังกฤษส่งกองทัพรุกรานจีนอีกครั้ง และได้ยึดครองเกาะฮ่องกง ต่อมาในวันที่ 29 สิงหาคมปี 1842 อังกฤษบังคับราชสำนักชิงลงนามในสนธิสัญญาหนานจิง โดยระบุว่า จีนจะต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายในการทำสงครามให้แก่อังกฤษ และเปิดเมืองท่าหลายแห่ง เช่น กว่างโจว ฝูโจว เซี่ยเหมิน หนิงโป และเซี่ยงไฮ้ ให้นักธุรกิจชาวอังกฤษเข้ามาทำธุรกิจในเมืองเหล่านี้อย่างเสรี

เดือนตุลาคมปี 1856 อังกฤษ และฝรั่งเศสยกทัพมารุกรานจีนอีก ซึ่งเรียกว่า สงครามฝิ่นครั้งที่ 2 สงครามครั้งนี้สิ้นสุดลงด้วยจีนเป็นฝ่ายแพ้เช่นกัน ต่อมาในปี 1860 อังกฤษบังคับราชสำนักชิงลงนามในสนธิสัญญาปักกิ่ง โดยระบุว่า ราชสำนักชิงต้องแบ่งแยกเขตจิ่วหลง ซึ่งเป็นดินแดนที่อยู่ใกล้กับบริเวณเกาะฮ่องกงให้แก่อังกฤษ และในปี 1898 อังกฤษบังคับให้ราชสำนักชิงทำสัญญาให้เช่าเขตซินเจี้ย เป็นเวลา 99 ปีกับอังกฤษ ซึ่งสัญญาเช่าฉบับนี้จะหมดอายุในวันที่ 30 มิถุนายนปี 1997 เขตซินเจี้ยตั้งอยู่ทางทิศใต้ของแม่น้ำเซินเจิ้น อยู่ใกล้บริเวณเกาะฮ่องกง มีพื้นที่ทั้งหมด 946.4 ตารางกิโลเมตร

หลังราชสำนักชิงถูกโค่นล้ม รัฐบาลจีนทุกสมัยล้วนปฏิเสธรับรองสนธิสัญญาไม่ยุติธรรมที่ราชสำนักชิงทำกับอังกฤษ ตามหลักบรรทัดฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ สนธิสัญญาเหล่านี้จึงถือเป็นโมฆะ

หลังสาธารณรัฐประชาชนจีนสถาปนาขึ้น รัฐบาลจีนประกาศหลายครั้งว่า ฮ่องกงเป็นดินแดนของจีน จีนปฏิเสธรับสนธิสัญญาไม่ยุติธรรมทุกฉบับที่ราชสำนักชิงทำกับอังกฤษ จีนจะกลับใช้อำนาจอธิปไตยต่อฮ่องกงในช่วงเวลาที่เหมาะสม เมื่อหลายสิบปีที่แล้ว ถึงแม้ว่าฮ่องกงถูกยึดครองจากการทำสงครามรุกรานของอังกฤษ แต่ปัจจุบัน จีนต้องการแก้ไขปัญหาฮ่องกงด้วยสันติวิธี

เดือนสิงหาคมปี 1978 รัฐบาลจีนจัดตั้งสำนักงานกิจการฮ่องกง และมาเก๊า โดยให้สำนักงานนี้รับผิดชอบกิจการวิจัยค้นคว้าและร่างนโยบายเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาฮ่องกง อีกทั้งติดตามและวิจัยสภาพการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของฮ่องกงด้วย เพื่อเตรียมความพร้อมในการกลับมาใช้อำนาจอธิปไตยต่อฮ่องกงในขั้นตอนต่อมา

เมื่อวันที่ 29 มีนาคมปี 1979 นายเติ้ง เสี่ยวผิงพบปะกับนายเมอร์เรย์ แมคเลอโฮส ผู้สำเร็จราชการฮ่องกง ระหว่างการเจรจา นายเติ้ง เสี่ยวผิง เสนอให้ใช้นโยบายหนึ่งประเทศสองระบบในการแก้ไขปัญหาฮ่องกง โดยกล่าวว่า จีนแถลงหลายครั้งแล้วว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนมีอำนาจอธิปไตยเหนือฮ่องกง ฮ่องกงเป็นดินแดนของจีน ดังนั้น ประเด็นเกี่ยวกับฮ่องกงเป็นของใครนั้นจึงไม่จำเป็นต้องเจรจา เพราะมีความชัดเจนอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนได้คำนึงถึงสภาพที่เป็นอยู่ของฮ่องกง โดยตกลงจะอนุมัติให้ฮ่องกงใช้ระบอบทุนนิยมในระยะเวลาอันยาวนาน ขณะที่แผ่นดินใหญ่จีนใช้ระบอบสังคมนิยม ปัจจุบันนักธุรกิจจำนวนหนึ่งเป็นห่วงว่า การลงทุนในฮ่องกงอาจประสบกับความเสี่ยงมาก ข้าพเจ้าขอยืนยัน ณ โอกาสนี้ว่า หลังจีนกลับมาใช้อำนาจอธิปไตยต่อฮ่องกง จีนจะพยายามรักษาผลประโยชน์ของนักธุรกิจที่ลงทุนในฮ่องกงอย่างแน่นอน

วันที่ 6 เมษายนปี 1982 นายเอ็ดเวิร์ด ฮีท อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษเดินทางมาเยือนจีน ช่วงการเยือนเขากล่าวกับเติ้ง เสี่ยวผิงว่า ถึงเวลาแล้วที่อังกฤษและจีนต้องเริ่มเจรจา เพื่อแก้ไขปัญหาฮ่องกง นายเติ้ง เสี่ยวผิง เห็นด้วยกับข้อคิดเห็นนี้ และแจ้งนโยบายในการแก้ไขปัญหาฮ่องกงของจีนให้นายเอ็ดเวิร์ด ฮีท รับทราบ โดยนายเติ้ง เสี่ยวผิงกล่าวว่า หลังจีนกลับมาใช้อำนาจอธิปไตยต่อฮ่องกง ก็จะจัดตั้งเขตบริหารพิเศษฮ่องกง และให้ชาวฮ่องกงปกครองบริหารฮ่องกงด้วยตนเอง ระบอบสังคมและเศรษฐกิจของฮ่องกงที่มีอยู่ในปัจจุบันจะไม่เปลี่ยนแปลง วิถีชีวิตของชาวฮ่องกงจะไม่เปลี่ยนแปลง ระบบกฎหมายโดยรวมของฮ่องกงจะไม่เปลี่ยนแปลง ด้านนายเอ็ดเวิร์ด ฮีทเห็นด้วยกับนโยบายต่อฮ่องกงของจีน

หลังจากนั้นไม่นาน คือ วันที่ 22 กันยายน ปี 1982 นางมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษเดินทางมาเยือนจีน เพื่อเจรจาในประเด็นการแก้ไขปัญหาฮ่องกงกับผู้นำจีน

เติ้ง เสี่ยวผิง และ นางมาร์กาเร็ต แทตเชอร์

นางมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ได้รับสมญานาม “หญิงเหล็ก” จากการมีท่าทีแข็งกร้าวในการจัดการกิจการระหว่างประเทศ เมื่อเดือนมีนาคม ปี 1982 อาร์เจนตินาบุกยึด หมู่เกาะฟอล์กแลนด์ นางมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ได้สั่งการให้กองเรือรบมุ่งหน้าสู่เกาะฟอล์กแลนด์ในทันที และได้รับชัยชนะจากสงครามหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ในเวลาต่อมา

หลังอังกฤษได้รับชัยชนะในสงครามหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ไม่กี่วัน คือวันที่ 28 กรกฏาคม นางมาร์กาเร็ต แทตเชอร์เดินทางมาเยือนกรุงปักกิ่งด้วยความเชื่อมั่นและลำพอง โดยก่อนหน้าการเดินทางมาจีน นางมาร์กาเร็ตได้ศึกษาพื้นฐานทางกฎหมายของประเทศจีนมาอย่างดี รวมถึงประวัติศาสตร์การสูญเสียฮ่องกงของราชสำนักชิงจากสนธิสัญญา 3 ฉบับ จากนั้น นางมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ เรียกประชุมที่ทำเนียบนายกรัฐมนตรี เพื่อเตรียมการเดินทางมาเยือนจีน ก่อนหน้านั้น นางมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ ได้รับทราบเนื้อหาการเจรจาระหว่างนายเติ้ง เสี่ยวผิง และ นายเอ็ดเวิร์ด ฮีท อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษแล้ว จึงรู้ดีว่า จีนไม่ใช่ อาร์เจนตินา ฮ่องกงก็ไม่ใช่หมู่เกาะฟอล์กแลนด์

อย่างไรก็ตาม นางไม่ยอมรับข้อเสนอของจีนในการแก้ไขปัญหาฮ่องกง นางแสดงข้อคิดเห็นว่า อังกฤษจะมีสิทธิ์ปกครองบริหารฮ่องกงต่อไป เพราะได้ลงนามในสนธิสัญญา 3 ฉบับกับราชสำนักชิงเมื่อศตวรรษที่ 19 ในสัญญาระบุชัดเจนว่า เกาะฮ่องกง และเขตจิ่วหลงเป็นดินแดนที่ราชสำนักชิงแบ่งแยกให้อังกฤษอย่างถาวร ส่วนเขตซินเจี้ยเป็นดินแดนที่อังกฤษเช่าจากราชสำนักชิง ถึงแม้ว่ารัฐบาลจีนยุคปัจจุบันไม่ยอมรับสนธิสัญญา 3 ฉบับ ที่ราชสำนักชิงทำกับอังกฤษ แต่อังกฤษเห็นว่า ตามกฎหมายระหว่างประเทศ สนธิสัญญา 3 ฉบับนี้ยังคงมีผลบังคับใช้

แต่รัฐบาลจีนเห็นว่า ปัญหาฮ่องกงเป็นปัญหาที่เกิดจากอังกฤษทำสงครามรุกรานจีน และบังคับให้ราชสำนักชิงทำสนธิสัญญาที่ไม่ยุติธรรม 3 ฉบับกับอังกฤษ สนธิสัญญา 3 ฉบับนี้จึงไม่มีผลบังคับใช้ใดๆ นับตั้งแต่วันที่ลงนามกัน ด้วยเหตุนี้ การกลับมาใช้อำนาจอธิปไตยต่อฮ่องกงจึงเป็นสิทธิ์ที่ชอบด้วยกฎหมายของจีน อย่างไรก็ตาม จีนยินดีที่จะจัดการเจรจากับอังกฤษเพื่อแก้ไขปัญหาฮ่องกง เพราะว่า จีนอยากเห็นฮ่องกงคงไว้ซึ่งความเจริญรุ่งเรือง และเสถียรภาพ

ดังนั้น ประเด็นหลักของการเจรจาระหว่างจีนกับอังกฤษต้องเน้นประเด็นทำเช่นไรจึงจะสามารถรักษาความเจริญรุ่งเรือง และเสถียรภาพในฮ่องกง ประเด็นที่สำคัญที่สุดในการเจรจาระหว่างจีนกับอังกฤษคือ การวางแผนการบริหารงานในฮ่องกงอย่างสันติ ภายหลังฮ่องกงกลับคืนสู่จีน ซึ่งนั่นถือเป็นภารกิจสำคัญ ที่ทั้งสองประเทศจะต้องร่วมกันหารือในอนาคต

วันที่ 24 กันยายนปี 1982 นายเติ้ง เสี่ยวผิง พบปะกับางมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ที่มหาศาลาประชาคมปักกิ่ง ระหว่างการเจรจา นางมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ ยืนกรานในจุดยืนที่ว่า สนธิสัญญา 3 ฉบับที่ราชสำนักชิงทำกับอังกฤษนั้นยังคงมีผลบังคับใช้ ทั้งยังกล่าวว่า ถ้ารัฐบาลจีนยินยอมให้อังกฤษปกครองบริหารฮ่องกงต่อไปหลังปี 1997 นางจะพยายามให้การแก้ไขปัญหาฮ่องกงเป็นไปในแนวทางที่จีนต้องการ

ด้านนายเติ้ง เสี่ยวผิงโต้กลับทันทีว่า จุดยืนในปัญหาฮ่องกงของจีนมีความชัดเจนมาก คือ จีนจะต้องกลับมาใช้อำนาจอธิปไตยเหนือฮ่องกง ซึ่งรวมทั้งเกาะฮ่องกง เขตจิ่วหลง และเขตซินเจี้ยภายในปี 1997 ประเด็นนี้ไม่ต้องคุยกัน ประเด็นที่จีนจะเจรจากับอังกฤษคือ การวางแผนการบริหารงานในฮ่องกงอย่างสันติ ก่อนและหลังฮ่องกงกลับคืนสู่จีน

เห็นได้ชัดจากการเจรจาระหว่างทั้งสองฝ่ายว่า ความมุ่งหมายของนางมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ที่อยากจะใช้อำนาจอธิปไตยของฮ่องกงมาแลกกับสิทธิในการปกครองบริหารฮ่องกงนั้นไม่สามารถประสบความสำเร็จได้

อย่างไรก็ตาม นางมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ ยังไม่ยอมแพ้ จึงกล่าวกับนายเติ้ง เสี่ยวผิงว่า ถ้าจีนไม่ยอมรับข้อเสนอของอังกฤษ การพัฒนาเศรษฐกิจของฮ่องกงอาจประสบอุปสรรคมาก ซึ่งจะสร้างความเสียหายมหาศาลให้กับจีน แต่นายเติ้ง เสี่ยวผิง ไม่กังวลในประเด็นนี้ จึงตอบกลับทันทีว่า คนจำนวนหนึ่งเห็นว่า ถ้าไม่สามารถคงไว้ซึ่งความเจริญรุ่งเรืองของฮ่องกง การพัฒนาเศรษฐกิจของแผ่นดินใหญ่จีนก็จะได้รับผลกระทบอย่างมากจากการนี้ แต่ข้าพเจ้ากลับเห็นว่า การประเมินเช่นนี้ไม่ถูกต้อง เพราะว่า จะสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีนได้หรือไม่นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับฮ่องกงเพียงปัจจัยเดียว ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกมาก ส่วนปัญหานักธุรกิจบางส่วนอาจถอนเงินทุนออกจากฮ่องกงนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่า ขอเพียงจีนใช้โยบายที่ถูกต้อง เงินทุนที่ไหลออกจากฮ่องกงจะไหลกลับมาในที่สุด

ถ้อยคำทางการทูตที่เปี่ยมไปด้วยความสุขุมคัมภีรภาพของนายเติ้งเสี่ยวผิง ทำให้นางมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ ถึงกับเดินสะดุดล้มลงไปคุกเข่าอยู่ที่พื้น ขณะลงจากบันไดของมหาศาลาประชาคม ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน ภายหลังการเจรจาประมาณ 3 ชั่วโมง

หลังจากนั้นการเจรจาอีกหลายระลอกก็ดำเนินไปตามลำดับขั้นตอน นับตั้งแต่จีนเสนอแผน ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ ใช้ในการบริหารงานภายในฮ่องกงหลังจีนกลับมามีอำนาจอธิปไตยต่อฮ่องกง การร่วมลงนามบันทึกช่วยจำในประเด็นต่างๆ และการตรากฎหมายใหม่บางฉบับ ตลอดจนการเลือกตั้งผู้ว่าการเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ซึ่งขั้นตอนการเตรียมการต้อนรับฮ่องกงกลับคืนสู่จีนนี้ใช้เวลายาวนานถึง 15 ปี

วันที่ 19 ธันวาคม 1984 ผู้นำจีน และอังกฤษร่วมลงนามในแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยปัญหาฮ่องกง โดยกำหนดให้วันที่ 1 กรกฎาคม ปี1997 เป็นวันที่จีนเริ่มกลับมาใช้อำนาจอธิปไตยเหนือฮ่องกงอย่างเป็นทางการ

ที่มา : ข้อมูล cri รูป wikipedia/xinhuanet

ดูเพิ่มเติม

ทำไมอังกฤษไม่ใช้กำลังทหารยึดเกาะฮ่องกงจากจีน