กลอน สุ่ยเตี้ยวเกอโถว 水调歌头 ทำนองเพลงสายน้ำ

สุ่ยเตี้ยวเกอโถว 水调歌头 ทำนองเพลงสายน้ำ เป็นบทกลอนของซูซื่อ หรือซูตงโพ กวีเอกในสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ

สุ่ยเตี้ยวเกอโถว 水调歌头 เป็นบทร้อยแก้ว 词 ซึ่งเป็นลักษณะของบทประพันธ์ที่นิยมในสมัยซ่ง แต่งขึ้นในกลางฤดูใบไม้ร่วงในรัชสมัยของฮ่องเต้ซ่งเสินจง แห่งราชวงศ์ซ่ง

ในเทศการไหว้พระจันทร์กลางฤดูใบไม้ร่วงของปี 1076 ซูซื่อที่เพิ่งสูญเสียภรรยา และต้องพลัดพรากกับครอบครัวในวันที่ชาวจีนเชื่อกันว่าครอบครัวควรอยู่พร้อมหน้า ทำให้เขาประพันธ์บทร้อยแก้วนี้ขึ้นมา ด้วยความคิดถึงน้องชาย ที่อยู่ห่างกัน

水调歌头 ·明月几时有

ทำนองเพลงสายน้ำ – จันทร์กระจ่างนี้มีเมื่อใด

丙辰中秋 ,欢饮达旦 ,
大醉,作此篇,兼怀子由 。

ปีปิ่งเฉิน ( ปี1076 ) เทศกาลไหว้พระจันทร์ 
ดื่มสุราด้วยความเบิกบานจวบจนรุ่งสาง เมามาก 
แต่งบทกวีนี้และรำลึกถึงจื่อโหยว

明月几时有?把酒问青天。
不知天上宫阙,今夕是何年?

จันทร์สกาวเช่นนี้มีเมื่อใด ถือถ้วยสุราถามฟ้าคราม
ไม่ทราบว่าในวังสวรรค์คืนนี้เป็นปีใด

我欲乘风归去,又恐琼楼玉宇,高处不胜寒。
起舞弄清影,何似在人间?

คิดจะเหินลมกลับไป แต่เกรงว่าวังงามดุจหยกบนฟ้า สูงจนหนาว ทนไม่ได้ ไหนเลยจะเหมือนอยู่โลกมนุษย์

转朱阁,低绮户,照无眠 。

แสงจันทร์ต้องหอแดงเคลื่อนลงสู่หน้าต่างสลัก
ส่องสว่างจนนอนไม่หลับ

不应有恨,何事长向别时圆 ?

มิควรโกรธ ยามจากกัน ไยพระจันทร์มักเต็มดวง

人有悲欢离合,月有阴晴圆缺,
此事古难全。

คนมีทุกข์ มีสุข มีพราก มีพบ
จันทร์มีมืด มีสว่าง มีเต็ม มีเสี้ยว
เป็นดั่งนี้มาแต่โบราณ มิอาจสมบูรณ์พร้อม

但愿人长久,千里共婵娟。

เพียงหวังคนอายุยืน แม้ห่างกันพันลี้ ร่วมกันชมจันทร์งาม

หมายเหตุ

สุ่ยเตี้ยวเกอโถว เป็นทำนองเพลงสมัยราชวงศ์สุย ต่อมาใช้เป็นทำนองฉือ วลีนี้แปลตามศัพท์ว่า ทำนองเพลงสายน้ำ ท่อนแรก (สุ่ย = นำ้ เตี้ยว = ทำนอง เกอ = เพลง โถว = หัว) ฉือสุ่ยเตี้ยวเกอโถวใช้ตัวอักษรรวม 95 ตัว สัมผัสนอกด้วยวรรณยุกต์เสียงที่ 1 และ 2 ต่อมาในสมัยราชวงศ์ซ่ง บาทที่มีตัวอักษร 6 ตัวในท่อนแรกและท่อนที่ 2 สัมผัสนอกด้วยวรรณยุกต์เสียงที่ 3 เสียงที่ 4 และตัวสะกด นอกจากนั้น ในบางครั้งบางประโยคก็ส่งสัมผัสกันด้วย

ซูซื่อหรือที่มีอีกชื่อหนึ่งว่า ซูตงปัว (1037-1101) ได้นำฉือสุ่ยเตี้ยวเกอโถวมาประพันธ์บทร้องที่ไพเราะ จนเป็นที่รู้จักและได้รับการยกย่องมาก

ในด้านชีวประวัติ เป็นคนสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ ได้รับการยกย่องว่าเป็นศิลปินเรืองนาม มีความสามารถในศิลปะหลายแขนง และมีผลงานศิลป์หลายด้าน ถิ่นฐานเดิมอยู่ที่เหมยโจว ปัจจุบันคือ อำเภอเหมยซาน มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ในปี 1057 สอบได้จิ้นซื่อ เข้าสอบราชการ ได้เป็นขุนนางท้องถิ่นหลายเมืองเป็นคนฉลาด ทำงานดี แต่ชีวิตราชการลุ่ม ๆ ดอน ๆ เคยถูกกลั่นแกล้งหลายครั้ง ถึงขนาดที่ถูกส่งไปอยู่ที่ฮุ่ยโจวและเกาะไหหลำ ซึ่งในสมัยนั้นเป็นเขตกันดารล้าหลัง

ในปี 1100 จักรพรรดิ์ฮุ่ยจงขึ้นครองราชย์ ได้ทรงพระกรุณาให้กลับไปรับราชการที่เมืองทางเหนือ อันเป็นถิ่นที่มีความเจริญ ในปีถัดมา (ปี 1101) ซูซื่อถึงแก่กรรมที่เมืองฉังโจว

สาเหตุที่ชีวิตราชการลุ่ม ๆ ดอน ๆ นั้น เพราะซูซื่อเป็นตัวของตัวเอง ยึดมั่นในหลักการที่อิงความดี ความถูกต้อง มิได้เอนเอียงลู่ไปตามอำนาจหรือผลประโยชน์ ในสมัยที่ซูซื่อเป็นขุนนาง มีความคิดเห็นที่แตกแยกกันในด้านการเมืองการปกครอง หวังอานสือ ขุนนางผู้ใหญ่มีอำนาจมากได้ปฏิรูปการปรกครอง มีหลายอย่างที่ซูซื่อไม่เห็นด้วยจึงคัดค้าน พอหวังอานสือหมดอำนาจ พวกหัวเกาขึ้นมามีอำนาจแทน ก็ต่อต้านการปฏิรูปของหวังอานสือทั้งหมด แต่ซูซื่อเห็นต่างออกไปว่า การปฏิรูปบางอย่างที่ดีควรดำเนินต่อไป หวกหัวเก่าจึงไม่ชอบ ซูซื่อจึงตกที่นั่งลำบาก กลุ่มขุนนางทั้งหัวเก่าและหัวใหม่ต่างไม่ชอบ ชีวิตราชการจึงลุ่ม ๆ ดอน ๆ

แต่ในด้านงานศิลป์ ซูซื่อประสบความสำเร็จมาก มีความสามารถและผลงานหลายด้าน

1. ได้รับการยกย่องว่าเขียนเรียงความดี ไพเราะ มีชื่อเสียงเคียงคู่กับโอหยังซิว

2. เขียนซือดี มีชื่อเสียงคู่มากับหวังถิงเจีน เป็น ซู-หวง แห่งราชวงศ์ซ่ง ได้ริเริ่มรูปแบบการเขียนซือแบบใหม่

3. เขียนฉือก็เขียนได้ดียิ่ง ซูซื่อและซินชื่จี๋มีชื่อเสียงคู่กัน เป็นซู-ซิน กวี ๒ ท่านได้เปลี่ยนแก่นเรื่องที่ใช้เขียนฉือ ทำให้ฉือมีฐานะสูงขึ้น สมัยก่อนมีความเห็นว่า ฉือ สู้ ซือ ไม่ได้ เพราะเขียนแต่เรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ ซู-ซินได้ปรับแนวมาเขียนเรื่องที่มีสาระมากขึ้น

4. เขียนพู่กันจีนได้สวยงดงาม เป็น ๑ ใน ๔ คนที่ได้รับการยกย่องว่าเขียนสวยเป็นแบบฉบับ

5. วาดภาพก็ได้รับการยกย่องเช่นกัน เป็นจิตรกรที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งในสมัยราชวงศ์ซ่ง

ส่วนเกร็ดประวัติในการแต่งฉือบทนี้มีอยู่ว่า ในปี 1076 ซูซื่อรับราชการอยู่ที่เมืองหังโจว ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน รู้สึกคิดถึงน้องชายที่ชื่อ จื่อโหยว เพราะไม่ได้พบกัน 6 ปี จึงขอย้ายไปรับราชการที่เมืองมี่โจว ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบันคือ อำเภอจูเฉิง มณฑลซานตง เพื่อจะได้ไปอยู่ใกล้น้องชายซึงเป็นขุนนางอยู่ที่ฉีโจว ปัจจุบันคือ เมืองจี่หนาน มณฑลซานตง เมื่อไปถึงมี่โจวยังไม่มีโอกาสได้พบน้องชาย ด้วยความคิดถึงจึงประพันธ์ฉือบทนี้ในคืนเทศกาลไหว้พระจันทร์ เป็นฉือที่แต่งดี มีชื่อเสียงมาจนทุกวันนี้

กลอนบาทที่ 2 วังสวรรค์ หมายถึง วังบนพระจันทร์ คนโบราณเชื่อว่า บนสวรรค์กับปีบนโลกมนุษย์ต่างกัน

บาทที่ 4 และ 5 นักวรรณคดีตีความต่างกันดังนี้

ความเห็นหนึ่งกล่าวว่า ข้าร้องรำทำเพลงใต้แสงจันทร์กระจ่าง เงาสลับไปมา แม้วังบนพระจันทร์ดีเพียงไรก็ยังสู้โลกมนุษย์ไม่ได้

ส่วนอีกความเห็นกล่าวว่า ข้าร้องรำทำเพลงใต้แสงจันทร์กระจ่าง ขอให้เงาหมุนตามตัวเรา เราก็จะเหมือนเทพเจ้าที่อยู่บนดิน

บาทที่ 8 พระจันทร์เหมือนแกล้ง เหมือนโกรธ ทั้งที่มิควรโกรธ พระจันทร์มักเต็มดวงยามคนเราจากกัน

บาทสุดท้าย สื่อความว่า ขอให้เรามีอายุยืนนาน ถึงจะอยู่ห่างกันพันลี้ ใจเราอยู่ด้วยกันใต้จันทร์ดวงเดียวกัน เหมือนชมจันทร์งามร่วมกัน

มีเรื่องเล่าอยู่ว่า เมื่อซูซื่อเขียนฉือบทนี้แล้ว ได้ให้นักร้องชื่อ เหยียนเถา ร้องเพลงนี้ ซูซื่อเองเต้นรำประกอบเพลง เหยียนเถาบอกว่า ทั้งฉือทั้งคนพันปีจะมีจะหาได้ยาก นอกจากนั้นมีผู้วิจารณ์ว่า เมื่อซูซื่อเขียนฉือบทนี้ ฉือของคนอื่นที่เขียนถึงพระจันทร์เก็บทิ้งได้แล้ว

ข้อมูลจากหนังสือ​ “หยกใสร่ายคำ” บทพระราชนิพนธ์แปลในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

เพลงหวังว่าเราจะอยู่ด้วยกันนิจนิรันดร์ 但愿人长久

หวังว่าเราจะอยู่ด้วยกันนิจนิรันดร์ 但愿人长久 เป็นบทเพลงที่ดัดแปลงมาจากบทกลอน สุ่ยเตี้ยวเกอโถว 水调歌头 ทำนองเพลงสายน้ำ เขียนโดยซูซื่อ กวีเอกในสมัยราชวงศ์ซ่ง

ในปี 1983 เติ้งลี่จวิน ได้ออกอัลบั้มชื่อว่า ตั้นตั้นโหย่วฉิง 淡淡幽情 ซึ่งรวมบทกลอนของกวีเอกในสมัยราชวงศ์ถัง และราชวงศ์ซ่งมาเป็นเนื้อเพลง รวม 12 เพลง ซึ่งมีเพลง หวังว่าเราจะอยู่ด้วยกันนิจนิรันดร์ 但愿人长久 อยู่ในอัลบั้ม

เติ้งลี่จวิน – หวังว่าเราจะอยู่ด้วยกันนิจนิรันดร์ 但愿人长久 ปี 1983

ในปี 1995 เฟย์ หว่อง หรือหวังเฟย 王菲 ได้นำบทเพลงนี้มาร้องอีกครั้งในอัลบั้มที่ชื่อว่า 菲靡靡之音

หวังเฟย 王菲 – หวังว่าเราจะอยู่ด้วยกันนิจนิรันดร์ 但愿人长久 ปี 1995

ติดตามเรื่องเล่าจีนได้ทางช่อง chinatalks และ fanpage chinatalks