บทกวี หอกระเรียนเหลือง โดยชุยเฮ่า

หวงเหอโหลว 《黄鹤楼》เป็นบทกวีเขียนโดยชุยเฮ่า 崔颢 กวีในสมัยราชวงศ์ถัง บทกวีกล่าวถึงความงดงามของหอกระเรียนเหลือง 1ใน 3 หอที่มีชื่อเสียงในประเทศจีน

黄鹤楼 — 崔颢

昔人已乘黄鹤去,此地空余黄鹤楼。
黄鹤一去不复返,白云千载空悠悠。
晴川历历汉阳树,芳草萋萋鹦鹉洲。
日暮乡关何处是?烟波江上使人愁。

หอกระเรียนเหลือง — ชุยเฮ่า

เซียนขี่นกกระเรียนเหลืองบินลับไป ที่นี่เหลือแต่หอกระเรียนเหลือง
กระเรียนเหลืองบินลับไม่กลับมา มีแต่เมฆขาวลอย ลอย ชั่วพันปี
ฟ้าโปร่ง แม่นำ้ ต้นไม้เมืองฮั่นหยังแจ่มชัด ที่เกาะนกแก้ว หญ้าหอม เขียวเขียว
อาทิตย์จะลับฟ้า ประตูเมืองถิ่นเกิดอยู่หนใด หมอกและคลื่นในลำน้ำ ทำให้ใจคนเศร้า

จากหนังสือ​ “หยกใสร่ายคำ” บทพระราชนิพนธ์แปลในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี บรรยายไว้ว่า

บทกวีนี้ได้รับการยกย่องว่าแต่งได้ดีและเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายมาพันกว่าปีแล้ว ผู้แต่งคือ ชุยเฮ่า (崔颢) เป็นชาวเปี้ยนโจว (汴州) ปัจจุบันคือเมืองไคเฟิง มณฑลเหอหนาน ไม่มีหลักฐานว่าเกิดเมื่อไร แต่ตายปี ค.ศ.๗๕๔ ใน ค.ศ.๗๒๓ สอบได้จิ้นซื่อ ผู้ที่สอบจิ้นซื่อได้ที่ ๑ เรียกว่า จ้วงหยวน (จอหงวน) ตอนอายุมากชุยเฮ่ามาเที่ยวที่อู่ซัง ได้มาเยือนหอกระเรียนเหลือง ประทับใจความงดงามของหอและทิวทัศน์ของแม่น้ำฉังเจียงในบริเวณนี้ จึงเขียนบทกวี หอกระเรียนเหลือง หลี่ไป๋ยังชมและยอมรับว่า ชุยเฮ่าแต่งได้ดีมาก ส่วนเหยียนอวี้ กวีสมัยราชวงศ์ซ่งยกย่องว่าเป็นซือ ๗ บทที่ดีเด่นที่สุดของราชวงศ์ถัง

เซียนในบทกวีนี้หมายถึง เซียนที่ชื่อ จื่ออาน ซึ่งเชื่อกันว่าขี่นกกระเรียนเหลือง ส่วนเกาะนกแก้ว หรือ อิงอู่โจวในภาษาจีนนั้น เป็นเกาะกลางแม่น้ำฉังเจียงที่เมืองอู่ซัง มีประวัติความเป็นมาว่า ในปลายราชวงศ์อั่นตะวันออก (ค.ศ.๒๕ – ๒๒o) เจ้าเมืองชื่อ หวงจวี่จัดงานเลี้ยงที่เกาะนี้

กวีชื่อ หนี่เหิง (ค.ศ.๑๗๓ – ๑๙๘) มาร่วมงานเลี้ยง ได้แต่งบทกวีชื่อ อิงอู่โจว เพราะมีแขกเอานกแก้วมาให้หวงจวี่ ต่อมาเจ้าเมืองขัดแย้งกับกวีผู้นี้จึงฆ่ากวีตาย หนึ่เหิงเป็นคนเก่ง มีวาทศิลป์ดี แต่หยิ่งยะโสและขาดมนุษยสัมพันธ์ ในเวลาต่อมาผู้คนได้เรียกเกาะนี้ว่า อิงอู่โจว (แปลว่า เกาะนกแก้ว) ตามชื่อบทกวีของหนี่เหิง

บทกวี หอกระเรียนเหลือง มีการเล่นคำซ้ำในบาทที่ ๔ – ๖

บาทที่ ๔ ใช้ว่า 空悠悠 Kōng yōuyōu คง โยว โยว สื่อความว่า เมฆขาวลอยรอคอยอย่างไม่มีหวังเป็นเวลานาน ในบทแปลภาษาไทยใช้ว่า ลอย ลอย

บาทที่ ๕ ใช้ว่า 历历 Lìlì ลี่ ลี่ แปลตามศัพท์ว่า ชัด ๆ ภาษาไทยใช้ว่า แจ่มชัด กลอนบาทนี้สื่อความว่า ท้องฟ้าเมืองฮั่นหยังไปร่ง ใส ทำให้เห็นแม่น้ำและต้นไม้เมืองฮั่นหยังแจ่มชัด

บาท ๖ ใช้ว่า 萋萋 Qī qī ชี่ ชี่ แปลตามศัพท์ว่า เขียว ๆ ภาษาไทยแปลรักษาอรรถรสเดิมว่า หญ้าหอม เขียว เขียว