ถูโยวโยว นักวิทยาศาสตร์หญิง ผู้ได้รับรางวัลโนเบล คนแรกของจีน

ถูโยวโยว 屠呦呦 เป็นนักวิทยาศาสตร์หญิงคนแรกของจีน ที่ได้รับรางวัลโนเบลสรีศาสตร์ หรือการแพทย์ เธอคือผู้คิดค้นยาต้านมาลาเรียที่นำมาจากสมุนไพรจีนและตำรายาโบราณ จนได้ตัวยาที่เรียกว่า อาร์ติมิซินิน (Artemisinin) ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงในการรักษาโรคมาลาเรีย ซึ่งช่วยรักษาและลดอัตราการตายของผู้ป่วยโรคมาลาเรียทั่วโลกได้เป็นล้านคน

ถู โยวโยว เกิดวันที่ 30 ธันวาคม 1930 ที่เมืองหนิงโป มณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน เธอเข้าเรียนและสำเร็จศึกษาจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทย์ปักกิ่ง ในปี 1955 โดยถูโยวโยวได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับการใช้สมุนไพรจีนในการรักษาโรค

หลังจบการศึกษา ถูโยวโยวได้เข้าทำในงานเป็นนักวิจัย ที่สถาบันการแพทย์แผนจีนโบราณแห่งประเทศจีน (China Academy of Traditional Chinese Medicine) ตั้งแต่ปี 1965-1978 จนได้รับแต่งตั้งในตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์

ในปี 1967 ในช่วงสงครามเวียดนาม โรคมาลาเรีย ได้คร่าชีวิตทหารทั้งฝั่งอเมริกา และเวียดนาม รวมถึงทหารจีนซึ่งประเทศจีนได้ส่งไปร่วมรบ เหมาเจ๋อตุง ประธานสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้สั่งการให้ตั้งหน่วยลับของรัฐบาลเรียกว่า ภารกิจ 523 โดยมีภารกิจเร่งด่วนในการค้นหาวิธีการพิชิตโรคมาเลเรีย

2 ปีต่อมา ถูโยวโยวได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าหน่วย และต้องย้ายไปยังเกาะไห่หนาน ทางตะวันออกเฉียงใต้ ของจีน ซึ่งมีลักษณะภูมิอากาศเขตร้อน เพื่อจะได้มีโอกาสศึกษาโรคมาลาเรีย โดยเธอต้องฝากลูกสาววัย 4 ปี ไว้ที่สถานรับเลี้ยงเด็ก ส่วนสามีของเธอ ก็ถูกการเมืองในพรรคคอมมิวนิสต์ในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม ส่งตัวไปทำงานยังค่ายแรงงานในชนบท

ในช่วงเวลานั้น ถูโยวโยว ได้ศึกษาวิจัยยาสมุนไพรจีนโบราณ เพื่อนำมาทดสอบและนำมาใช้ในการรักษาโรคมาลาเรีย

จากการศึกษาตำราแพทย์จีนโบราณ ถูโยวโยว จึงได้พบว่ามีการนำพืชสมุนไพรโกฐจุฬาลัมพา มาใช้ในการรักษาโรคซึ่งมีลักษณะคล้ายโรคมาลาเรีย ในจีนมาก่อน เมื่อทดลองเพิ่มเติม ในเวลาต่อมา จึงพบว่าในพืชสมุนไพรชนิดนี้ มีสารประกอบที่เรียกว่า อาร์ติมิซินิน Artemisinin ซึ่งให้ประสิทธิภาพในการต้านปรสิตก่อโรคมาลาเรีย แต่ในการทดลองในช่วงแรก ๆ ก็ยังไม่ประสบผล

โกฐจุฬาลัมพา (Artemisia annua)

ถูโยวโยว ไม่ยอมล้มเลิกและใช้ความพยายามในทดลองแยกสารประกอบ จนมั่นใจว่า อาร์ติมิซินิน สามารถใช้เป็นยารักษาโรคมาลาเรียได้ ต่อมาจึงได้มีการนำยานี้ไปใช้ทดลองกับหนูและลิงในห้องทดลอง เมื่อถึงขั้นตอนการทดสอบ ถูโยวโยวก็อาสาเป็นบุคคลแรกที่ใช้ยาตัวนี้ จนเมื่อผลการทดลองประสบผลสำเร็จ จึงได้มีการใช้ยานี้เพื่อรักษาโรคมาลาเรีย

ถู โยวโยว ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ ในปี 2015

ถู โยวโยว ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ ในปี 2015 ร่วมกับ วิลเลียม แคมป์เบลล์ (William Campbell) ชาวไอริช อเมริกัน และซาโตชิ โอมูระ (Satoshi Omura) ชาวญี่ปุ่น โดยผลงานการคิดค้นยารักษาโรคมาลาเรียของเธอ ทำให้เธอได้รับเงินรางวัลครึ่งหนึ่งของเงินรางวัลทั้งหมด

จากคำประกาศของคณะกรรมการสาขาสรีรศาสตร์หรือการแพทย์ ประจำปี 2015 ระบุว่า

โรคมาลาเรียซึ่งอยู่กับมนุษยชาติมาเป็นเวลานาน มีสาเหตุจากปรสิตเซลล์เดียวที่มียุงเป็นพาหะได้เข้าไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดง จนทำให้เกิดไข้ ในกรณีร้ายแรงก็เป็นเหตุให้สมองถูกทำลายและเสียชีวิต ในแต่ละปีมีรายงานยืนยันว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคมาลาเรียถึง 450,000 คน และประชากรโลกมากกว่า 3.4 พันล้านคน มีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อมาลาเรีย

ทั้งนี้ การรักษาในขณะที่การรักษาโรคมาลาเรียด้วยยาคลอโรควิน (chloroquine) หรือ ควินิน (quinine) เริ่มไม่ได้ผล โดยเมื่อช่วงปลายทศวรรษ 1960 ความพยายามในการกำจัดโรคมาลาเรียล้มเหลว และมีการติดโรคเพิ่มสูงขึ้น ในช่วงเวลานั้น ถูโยวโยว นักวิทยาศาสตร์ชาวจีนได้เปลี่ยนยาสมุนไพรดั้งเดิมสู่การพัฒนาการบำบัดมาลาเรียแบบใหม่

จากศึกษาการบำบัดโรคมาลาเรียด้วยสมุนไพร พบว่าพืชสมุนไพรหวานกลุ่มโกฐจุฬาลัมพา หรือ อาร์ติมิเซียแอนนัว (Artemisia annua) เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ อย่างไรก็ตาม ในช่วงเริ่มต้นของการรักษาด้วย อาร์ทีมิเซียแอนนัว ให้ผลที่ไม่สอดคล้องกัน

ถูโยวโยวจึงได้ศึกษาตำรายาโบราณเพื่อเป็นแนวทางในการสกัดสารประกอบสำคัญจากสมุนไพรดังกล่าว และเป็นคนแรกที่แสดงให้เห็นว่าสารประกอบซึ่งภายหลังเรียกว่า อาร์ติมิซินิน (Artemisinin) ให้ประสิทธิภาพสูงในการต้านปรสิตก่อโรคมาลาเรีย ทั้งที่ก่อโรคในสัตว์และที่ก่อโรคในคน และเป็นสารบำบัดตัวใหม่ที่ฆ่าเชื้อปรสิตก่อโรคมาลาเรียได้อย่างรวดเร็วในระยะเริ่มต้น ซึ่งเป็นสาเหตุของความสำเร็จในการรักษาที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

โรคมาลาเรีย ได้ส่งผลกระทบต่อคนเกือบ 200 ล้านคนในแต่ละปี และยาอาร์ติมิซินินนั้นได้ถูกใช้ไปในทุกพื้นที่ที่มีโรคมาลาเรียอยู่ โดยเมื่อใช้ยาร่วมกับการบำบัดรักษาอย่างอื่นร่วมด้วย จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมาลาเรียได้มากกว่า 20% ในภาพรวม และมากกว่า 30 % ในเด็ก โดยเฉพาะที่แอฟริกาเพียงแห่งเดียว ก็ช่วยให้มีผู้รอดชีวิตมากกว่าปีละ 100,000 คน

การค้นพบ Artemisinin ถือเป็นการปฏิวัติวงการ การรักษาผู้ป่วยจากโรคมาลาเรีย ซึ่งการค้นพบนี้ได้ส่งผลประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติอย่างประประเมินค่าไม่ได้

เหรียญรางวัลสาธารณรัฐ ครอบรอบ 70 ปี ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน

ถูโยวโยว และประธานาธิบดีสีจิ้นผิง

ในโอกาสครอบรอบ 70 ปี ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในวันที่ 1 ตุลาคม 2019 ถูโยวโยวเป็นหนึ่งในผู้ได้รับเหรียญรางวัลสาธารณรัฐ ซึ่งถือได้ว่าเป็นรางวัลที่มีเกียรติสูงสุดของจีน

22 ตุลาคม 2019 UNESCO-Equatorial Guinea International Prize for Research in the Life Sciences ครั้งที่ 5 ได้ประกาศมอบรางวัลให้ถูโยวโยว ซึ่งรางวัลนี้เป็นรางวัลเพื่อมอบให้กับองค์กรหรือบุคคลซึ่งมีงานวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย

โดยถูโยวโยวจะรับรางวัลร่วมกับ Dr. Cato Laurencin ชาวอเมริกัน และ Professor Kevin McGuigan จากไอร์แลนด์ โดยทั้ง 3 จะแบ่งเงินรางวัลร่วมกันจำนวน 350,000 ดอลล่าร์สหรัฐ และรางวัลรูปปั้นของศิลปิน Leandro Mbomio Nsue พร้อมประกาศนียบัตร โดยพิธีจะจัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2020