เจ้าแม่กวนอิม 33 ปาง

ที่มาของกวนอิน ๓๓ ปางนี้ มาจากการที่มีการแปลคัมภีร์สัทธรรมปุณฑริกสูตรสู่พากษ์ภาษาจีนและคัมภีร์อื่น ๆ อีกหลายต่อหลายเล่มที่กล่าวถึงรูปกายต่าง ๆ ของพระอวโลกิเตศวรซึ่งปรากฏขึ้นเพื่อโปรดสัตว์ในภพภูมิและฐานะต่าง ๆ กันซึ่งก็มีหลายภาคหลายปาง ทำให้พระชาวจีนและญี่ปุ่นได้ให้ความสำคัญในการสร้างกวนอินทั้ง ๓๓ ปางตามแบบอย่างที่ปรากฏในคัมภีร์ซึ่งได้รับอิทธิพลอย่างมากจากการโปรดสัตว์ได้ ๓๓ รูปกายของพระอวโลกิเตศวรในคัมภีร์สัทธรรมปุณฑริกสูตร สมันตมุขปริวรรตฉบับของท่านกุมารชีพ พ.ศ. ๙๓๔

ใน ๓๓ ปางนั้นแต่ละคัมภีร์กล่าวไม่เหมือนกัน ในคัมภีร์สัทธรรมปุณฑริกสูตร สมันตมุขปริวรรตฉบับของท่านกุมารชีวะ พ.ศ. ๙๓๔ ปรากฏ ๓๓ กาย ซึ่งตรงกับฉบับแปลธิเบตและสันสฤตเดิม ในฉบับของท่านธรรมรักษ์ พ.ศ. ๘๒๙ (บางแห่งว่าปีพ.ศ. ๘๓๓) กล่าวว่าปรากฏกายได้ถึง ๓๖ กาย ในคัมภีร์โปตลสาครสมาคมสาธน (补陀落海会轨No. 1067 ) ซึ่งแปลสู่พากย์จีนโดยท่านอโมฆวัชระ ราวพ.ศ.๑๒๔๘-๑๓๑๗ ได้แปลไว้ว่าในรูปที่ ๑๙. รูปของภรรยาเศรษฐี ๒๐. รูปของภรรยาคฤหบดี ๒๑. รูปของภรรยานายบ้าน ๒๒. รูปของพรามณี แปลไว้เป็นรูปของมนุษย์ รูปของอมนุษย์ รูปของหญิงภรรยาและรูปกุมารเนตรเทวนารี ซึ่งแตกต่างกันออกไปจากของท่านกุมารชีพ กวนอิน ๓๓ นี้ได้รับอิทธพลอย่างมากจาก ฉบับของท่านกุมารชีพ โดย ๓๓ ปางของฉบับท่านกุมารชีพมีดังนี้
๑. รูปของพระพุทธเจ้า
๒.รูปของพระปัจเจกพุทธเจ้า
๓.รูปของพระสาวก
๔. รูปของพระพรหม
๕. รูปของพระอินทร์
๖. รูปของพระอิศวร
๗. รูปของพระมเหศวร
๘. รูปของเสนาบดี
๙. รูปของพระเวสสุวรรณ
๑๐. รูปของพระจุลลจักรพรรดิ
๑๑. รูปของเศรษฐี
๑๒. รูปของคฤหบดี
๑๓. รูปของนายบ้าน
๑๔. รูปของพรหมณ์
๑๕. รูปของพระภิกษุ
๑๖. รูปของพระภิกษุณี
๑๗. รูปของอุบาสก
๑๘. รูปของอุบาสิกา
๑๙. รูปของภรรยาเศรษฐี
๒๐. รูปของภรรยาคฤหบดี
๒๑. รูปของภรรยานายบ้าน
๒๒. รูปของพรามณี
๒๓. รูปของกุมาร
๒๔. รูปของกุมารี
๒๕. รูปของเทวดา
๒๖. รูปของนาค
๒๗. รูปของยักษ์
๒๘. รูปของคนธรรพ์
๒๙. รูปของอสุรกาย
๓๐. รูปของครุฑ
๓๑. รูปของกินนร
๓๒. รูปของมโหราค
๓๓. รูปของพระวัชรปาณี

กวนอิน ๓๓ ปางนี้ไม่ได้สร้างรูปแบบตามที่ปรากฏในคัมภีร์ทีเดียว แต่ทว่าได้รับอิทธิพลมาแต่เฉพาะเรื่องของความคิดเท่านั้น มีการสร้างขึ้นในแต่ละสมัยที่ไม่เหมือนกัน ในความจริงนั้นการสร้างรูปเคารพต้องสอดคล้องกับความศรัทธาของมหาชนด้วย เช่นนั้นแล้วการสร้างกวนอิน ๓๓ ปางจึงมาครบถ้วนเอาในระยะที่ตำนานพระราชธิดาเมี่ยวซันได้เป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวางแล้ว ด้วยเหตุนี้เองพระโพธสัตว์ทั้ง ๓๓ ปางเมื่อได้เข้าไปสู่ประเทศญี่ปุ่นในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ จึงอยู่ในรูปของสตรีเพศทั้งสิ้น และมักจะมีปรากฏว่ามีการนั่งบนหินบ้าง ปลาบ้าง เพ่งดูทะเลบ้างเป็นต้น ซึ่งถูกเชื่อมโยงเรื่องในตำนานดังกล่าวตลอดจนเรื่องที่ปรากฏในพระไตรปิฎก อย่างไรก็ตามรูปเคารพพระโพธิสัตว์เหล่านี้มีการสร้างมากมายแล้ว ก่อนที่จะมีตำนานเมี่ยวซานเสียอีก ในสมัยราชวงศ์หยวน รูปเคารพเหล่านั้นก็ถูกอนุเคราะห์เข้าไปกับพระโพธิสัตว์ ๓๓ ปาง ซึ่งบางปางเกิดในสมัยหลัง ๆ ก็มี โดยข้าพเจ้าจะอธิบายโดยสังเขป ในเรื่องของรูปลักษณะนั้น ในแต่ละสมัยแต่ละศิลปะก็มีการปั้น การประยุกต์ที่แตกต่างกันออกไปบ้าง จึงไม่แน่นอนเสียทีเดียว ๓๓ ปางนั้นมีดังนี้

ปางที่ ๑ อวโลกิเตศวรถือกิ่งหลิว (杨柳观音หยางจือกวนอิน)รูปลักษณะ : พระหัตถ์ซ้ายทำอภัยมุทรา พระหัตถ์ขวาถือกิ่งหลิ่ว ประทับบนหินผา พระหัตถ์ที่ถือกิ่งหลิ่วเป็นไภษัชยธรรม (ธรรมอันเป็นยา) สามารถขจัดโรคทั้งหลายได้ ในกวนอิมพันมือก็มีมือหนึ่งที่ถือกิ่งหลิ่ว ซึ่งในคัมภีร์สหัสรกรสหัสรเนตรอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์มหาเมตตาจิตธารณี (大正No. 1064 ) และคัมภีร์สหัสรรัศมีเนตรอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์คุหยธรรมสูตร (大正No. 1065 ) กล่าวไว้ว่า “พระอวโลกิเตศวรทรงถือกิ่งหลิ่วและคนโทบริสุทธิ์ ทรงสาดน้ำคืออมฤตธรรมให้ปกแผ่ไปทั่วด้วยจิตมีประกอบด้วยความเมตตากรุณาที่ยิ่งใหญ่ เพื่อดับทุกข์ดับภัยแก่สรรพสัตว์”
เทียบในสมันตมุข : ฉบับสันสกฤตหน้าที่ ๒๔๓ ข้อที่ ๑๘ กล่าวว่า “พระองค์ (อวโลกิเตศวร) เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยบารมีแห่งกำลังอิทธิฤทธิ์ ทรงศึกษาในวิทยาและอุบายอย่างกว้างขวาง ทรงปราฏกในโลกทุกส่วน จากทุกทิศและในพุทธเกษตรทั้งปวง”
อธิบาย : เป็นปางแรกของกวนอิน ๓๓ ปาง และเป็นที่นิยมมากปางหนึ่ง กวนอินปางนี้ถือความทรงพระคุณมากในเรื่องการรักษาโรค ใหโชคลาภ ช่วยให้ฝนตกและขจัดภัยต่าง ๆ จึงมีอีกชื่อว่า ไภษัชยราชาอวโลกิเตศวร ในประเทศจีนมีตำนานอยู่ว่า “ครั้งหนึ่งพระอวโลกิเตศวรเสด็จไปโปรดชนบทที่แห้งแล้วในประเทศจีน ประชาชนเกือบทั้งหมดอดอยากยากเข็ญ ไม่มีศีล ไม่มีคุณธรรมเป็นส่วนมาก พระองค์ทรงแปลงกายเป็นหญิงชราเที่ยวเดินขอทานตามบ้าน ซึ่งก็ไม่ได้รับความเมตตาใด ๆ เลย พระองค์ก็ได้ตั้งคำถามและให้คำตอบเป็นปริศนาธรรมต่าง ๆ จนมีชายอาวุโสชื่อหลิวซื่อเสียน เข้าใจปริศนาธรรมและรู้ว่าเป็นพระอวโลกิเตศวร จึงขอร้องให้พระองค์ช่วยเหลือประชาชนผู้เดือดร้อนเหล่านั้น โดยให้ช่วยบันดาลฝนให้ตกจะได้มีน้ำพอเพียงชุ่มชื้นเพียงพอในการเพาะปลูก เฒ่าหลิวซื่อเสียนจึงได้เรี่ยไรเงินชาวบ้าน สร้างรูปปั้นของท่านไว้บูชา โดยประดิษฐานที่เขาไถ่ซื่อซาน ทำให้ชาวบ้านหันมาปฏิบัติธรรม

ปางที่ ๒ อวโลกิเตศวรขี่หัวมังกร(นาค) (龍頭觀音หลงโถวกวนอิน)
รูปลักษณะ : ทรงประทับบนหัวมังกร พระหัตถ์ขวาทรงถือกิ่งหลิ่ว พระหัตถ์ซ้ายจับผ้าขวาที่ทรงครอง ทรงครองผ้าสีขาว
เทียบในสมันตมุข : “พระอวโลกิเตศวรทรงนิรมาณกายเป็นรูปของเทวดาและนาคเพื่อแสดงธรรม แก่ผู้ที่สมควรโปรดด้วยรูปเทวดาและนาค”
อธิบาย : คำว่า “หลง” (龍) ในคัมภีร์พุทธหมายถึงนาค ในคัมภีร์สัทธรรมสติปัฏฐานสี่ ผูกที่ ๑๘ บทที่ว่าด้วยเรื่องของสัตว์เดรัจฉานกล่าวว่า (正法念處經卷十八畜生品) นาคราชจัดเป็นส่วนหนึ่งของเดรัจฉานคติ เนื่องจากเป็นสัตว์ที่ไม่ฉลาดไม่มีปัญญา

ปางที่ ๓ อวโลกิเตศวรทรงคัมภีร์ (持經觀音 ฉือจิงกวนอิน)
รูปลักษณะ : ทรงประทับนั่งอยู่บนหินผา มือขวาถือคัมภีร์
เทียบในสมันตมุข : “พระอวโลกิเตศวรทรงนิรมาณกายเป็นพระสาวกแสดงธรรม แก่พระสาวก”
อธิบาย : คำว่า “สาวก” หมายถึงผู้สดับรับฟัง ในที่นี้หมายถึงรับฟังคำสั่งสอนมาจากพระพุทธเจ้าจึงชื่อว่าพระสาวก พระอวโลกิเตศวรทรงถือคัมภีร์ก็เพื่อแสดงธรรม เนื่องจากพระหัตถ์ขวาถือคัมภีร์จึงชื่อพระอวโลกิเตศวรทรงคัมภีร์

ปางที่ ๔ ปูรณรัศมีอวโลกิเตศวร (圓光觀音 เวี๋ยนกวงกวนอิน)
รูปลักษณะ : ทรงประทับอยู่บนหินผา พระวรการตั้งตรงปรากฏแสงสว่างที่โชติช่วงยิ่งนัก
เทียบในสมันตมุข : “แม้บางครั้งต้องประสบทุกข์จากอาญาของพระราชา จวนถูกประหาร ชีวิตจะจบสิ้น ด้วยอำนาจของการระลึกถึงพระอวโลกิเตศวร มีดก็จะหักชำรุดไปเป็นท่อน ๆ”
อธิบาย : คำว่า “ปูรณ” หมายถึงเต็ม,บริบูรณ์ “รัศมี” หมายถึงแสงสว่าง เพราะพระอวโลกิเตศวรทรงกอรปไปด้วยความรักความกรุณาที่ยิ่งใหญ่ เป็นสัญลักษณ์ที่ปรากฏออกมาของแสงสว่างนั้น ดังที่ในสมันตมุขก็ได้กล่าวไว้ว่า “รัศมีอันบริสุทธิ์ปราศจากมลทิน สุริยปัญญา(ปัญญาเปรียบเสมือนดวงอาทิตย์) ทำลายความมืดมนทั้งหลาย สามารถกำราบภัยจากลมและไฟ รัศมีปกแผ่ทั่วโลกธาตุ”

ปางที่ ๕ อวโลกิเตศวรทรงจาริก (遊戲觀音 โหยวสีกวนอิน)
รูปลักษณะ : ปางนี้ทรงประทับอยู่เหนือเมฆ เข่าข้างซ้ายตั้งตรง มือขวายันร่างกายไว้
เทียบในสมันตมุข : “แม้บางคราวเมื่อถูกคนร้ายไล่ จนพลัดตกจากเขาวชิระ(เขาสูง เขาที่แข็งแกร่ง) เมื่อได้ระลึกถึงพระอวโลกิเตศวรด้วยอำนาจนั้น จักไม่ได้รับบาดเจ็บแม้แต่น้อยหรือแม้เพียงขนเส้นเดียว”
อธิบาย : การอบรมสั่งสอนธรรมของพระอวโลกิเตศวรนั้นแพร่กระจายออกไปอย่างไม่มีสิ่งใดที่มาขว้างกันได้ ทรงปรากฏขึ้นได้ทุกที่ทุกสถาน เป็นอิสระในทุกสิ่ง จึงถูกกล่าวขานว่า พระอวโลกิเตศวรทรงจาริก หมายถึงการเที่ยวไปอย่างเป็นอิสระประกอบด้วยความเพลิดเพลิน เพราะได้นิรมาณกายไปช่วยเหลือสัตว์ทั้งหลาย

ปางที่ ๖ พระปัณฑรวาสินีอวโลกิเตศวร (白衣觀音ป๋ายอีกวนอิน)
รูปลักษณะ : ทรงประทับเหนือดอกบัวสีขาว ทรงอาภรณ์สีขาว เหนือโขดหินที่ลาดด้วยหญ้า ทำท่าสมาธิมุทรา
เทียบในสมันตมุข : “พระอวโลกิเตศวรทรงนิรมาณกายเป็นพระภิกษุ,ภิกษุณีแสดงธรรม แก่พระพระภิกษุ,ภิกษุณี”
อธิบาย : ธิเบตเรียกว่า “Gos-dkar-mo” สีขาวเป็นสีพื้นฐานของทุก ๆ สี เทียบกับหมื่นคุณูปการที่พร้อมพรั่ง อีกยังเทียบได้กับโพธิจิตที่บริสุทธิ์สะอาด กวนอินปางนี้เป็นที่รู้จักของคนส่วนมาก นิยมปั้นรูปเคารพ แต่มักรู้จักในชื่อกวนอินเสื้อขาว ในครรภ์ธาตุมณฑลของพระอวโลกิเตศวรปางนี้ร่างกายของพระองค์ปรากฏสีขาวและเหลือง ครองอาภรณ์สีขาว พระหัตถ์ซ้ายทรงถือดอกบัวสีขาวเฝ้าปรารถนาให้ได้มาซึ่งภัยที่ถูกดับสลายแล้ว พระหัตถ์ขวาทรงทำพระหัตถ์พร้อมทั้งสภาพที่ปรารถนาให้สัตว์ทั้งหลายพ้นทุกข์ โดยกางนิ้วทั้งห้าออกแล้วยื่นออกไปข้างนอกตัวตั้งอยู่ในระดับเอว นั่งขัดสมาธิบนดอกบัวสีแดงเรื่อ ๆ (อ่อนกว่าสีชมพู)

ปางที่ ๗ อวโลกิเตศวรนอนบัว (蓮臥觀音เหลียนว่อกวนอิน)
รูปลักษณะ : ปางนี้มีรูปลักษณะพนมมือ ทรงประทับนั่งอยู่บนกลีบของดอกบัว
เทียบในสมันตมุข : เทียบกับการที่พระอวโลกิเตศวรสามารถนิรมาณกายเป็นรูปของพระจุลลจักรพรรดิ เพื่อแสดงธรรมโปรดสัตว์ที่เหมาะสมกับรูปของพระพระจุลลจักรพรรดิได้
อธิบาย : อธิบายว่าปางนี้ทรงประทับนั่งหรือนอนอยู่บนกลีบของดอกบัว เปรียบกับการกระทำของพระจุลลจักรพรรดิในสมันตมุขปริวรรตได้ว่า อุปมาดังพระจุลลจักรพรรดิที่ทรงมีพระวรกายที่สูงศักดิ์ประทับนั่งหรือนอนอยู่บนดอกบัว

ปางที่ ๘ อวโลกิเตศวรมองน้ำที่ไหลเชี่ยว (瀧見观音หลงเจี้ยนกวนอิน)
รูปลักษณะ : อนึ่งมีชื่อว่า “อวโลกิเตศวรน้ำตก” ปางนี้ทรงพิงอยู่บนแท่นหินผา เพ่งพินิจพิจารณาการไหลของกระแสน้ำ
เทียบในสมันตมุข : ฉบับสันสกฤตหน้า ๒๔๒ ข้อที่ ๕ กล่าวว่า ถ้าศัตรู (ผู้มีใจประทุษร้าย) ทำให้เขาตกลงไปในกองไฟ เพื่อหวังจะฆ่าให้ตาย เมื่อเขาระลึกถึงพระอวโลกิเตศวร ไฟก็จะมอดดับไป เหมือนกับถูกน้ำรด

ปางที่ ๙ อวโลกิเตศวรประทานยา (施藥观音ซือเย่ากวนอิน)
รูปลักษณะ : ปางนี้ทรงประทับบนโขดหินริมสระน้ำ เพ่งพินิจพิจารณาดอกบัว พระหัตถ์ขวายันแก้มเอาไว้ พระหัตถ์ซ้ายท้าวสะเอ็วเอาไว้
เทียบในสมันตมุข : ฉบับสันสกฤตหน้า ๒๔๓ ข้อที่ ๑๗ กล่าวไว้ว่า “พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ผู้มีกำลังญาน อันบริสุทธิ์ ทรงพิจารณาเห็นสัตว์ทั้งหลาย ที่ถูกความทุกข์หลายร้อยประการกดขี่ เบียดเบียน จึงเป็นผู้คุ้มครองสัตว์โลกทั้งหลาย รวมทั้งเทวดาให้รอดพ้นจากความทุกข์นั้น”
อธิบาย : อันทานการให้พร้อมทั้งยาที่ดี ช่วยรักษาโรคภัย ความทุกข์ยากทางกายและใจของสรรพสัตว์ทั้งในด้านที่บวกและด้านลบ

ปางที่ ๑๐ อวโลกิเตศวรตะกร้าปลา (鱼篮观音หวีหลานกวนอิน)
รูปลักษณะ : บางครั้งก็เรียกว่ากวนอิมปางภรรยาของหม่าหลางฟู่ เพราะเป็นปางเดียวกัน ดูรายละเอียดในปางที่ ๒๘ ทรงมีปลาตัวใหญ่เป็นพาหนะ พระหัตถ์ถือตะกร้าซึ่งในนั่นมีปลา
เทียบในสมันตมุข : ฉบับพระกุมารชีพกล่าวว่า “หรือไปพบพานรากษสบาป นาคมีพิษและเหล่าผีเป็นต้น ด้วยอำนาจระลึกถึงพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ก็ไม่กล้าทำร้ายได้เลย”

ปางที่ ๑๑ คุณราชาอวโลกิเตศวร (德王觀音เต๋อหวางกวนอิน)
รูปลักษณะ : ปางนี้ทรงนั่งขัดสมาธิบนหินผา พระหัตถ์ขวาทรงถือกิ่งหลิ่ว พระหัตถ์ซ้ายตั้งอยู่หน้าพระนาภี(สะดือ) บางก็ตั้งตรงอยู่เหนือเข่า สวมรัตนะมาลาเหนือพระเศียร
เทียบในสมันตมุข : “พระอวโลกิเตศวรทรงนิรมาณกายเป็นรูปพระพรหมราชาเพื่อแสดงธรรม แก่ผู้ที่สมควรแก่ผู้ที่ต้องโปรดด้วยพระพรหมราชาได้”
อธิบาย : เป็นหนึ่งในปางที่ได้รับความนิยม เนื่องจากพระพรหมราชานั้นเป็นอธิบดีในกามภูมิ มีคุณอันประเสริญยอดเยี่ยม ดังนั้นจึงกล่าวว่าคุณราชา คือผู้มีคุณที่ยิ่งใหญ่

ปางที่ ๑๒ พระอวโลกิเตศวรแห่งสายน้ำและดวงจันทร์(水月觀音สุยแยว่กวนอิน)
รูปลักษณะ : ทรงนั่นขัดสมาธิบนโขดหินริมมหาสมุทรมีบัวรองรับ ปางยืนก็มี พระหัตถ์ซ้ายถือดอกบัวที่ยังไม่บาน พระหัตถ์ขวาทรงอภัยมุทรา สายพระเนตรทอดลงต่ำ ทรงพิจารณาการไหลของกระแสน้ำและเงาของดวงจันทร์ที่ปรากฏในน้ำ บางครั้งพบว่ามี ๓ พระพักตร์ ๖ พระหัตถ์ สามพระหัตถ์ทางซ้ายมือทรงถือรัตนะปทุม สุวรรณจักร หางนกยูง สามพระหัตถ์ทางขวามือทรงถือดาบคม รัตนมุดดา ดอกอุบล(ดอกบัวเขียว) พระวรกายมีสีดังแสงพระอาทิตย์ ทรงประทับนั่งอยู่ในรัตนะบรรพต
เทียบในสมันตมุข : มักจะเทียบกับการที่พระอวโลกิเตศวรสามารถนิรมาณกายเป็นรูปปัจเจกพุทธเจ้า เพื่อแสดงธรรมโปรดสัตว์ที่เหมาะสมกับรูปพระปัจเจกพุทธเจ้าได้
อธิบาย : ในทางมนตรยานกวนอินปางนี้ก็คือพระวารีศรีโพธิสัตว์ในครรภ์ธาตุมณฑลของพระอวโลกิเตศวร มีตำนานเล่ากันต่อ ๆ มาว่าเป็นตอนที่พระอวโลกิเตศวรเสด็จโปรดวิญญาณผีตายโหงที่เมืองกู่ซู (เนื่องจากชาวเมืองถูกกองทหารจีนฆ่าตายอย่างไม่เป็นธรรม) พระโพธิสัตว์จึงทรงประทับนั่งบริกรรมพุทธมนต์บนโขดหิน พระหัตถ์ถือแจกันหยกมีกิ่งหลิ่วปักอยู่ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้วิญญาณทั้งหลายเป็นเวลา ๔๙ วัน กวนอินปางนี้เป็นที่นิยมทั้งในจีนและญี่ปุ่น ในทางธรรมะอาจตีความได้ว่าพระโพธิสัตว์ทรงสอนให้เราพิจารณาเงาดวงจันทร์ในน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่หลวงหลอก ไม่มีอยู่จริง รูปทั้งหลายเป็นอย่างเช่นนี้ เมื่อเราเพ่งเล็งเห็นอยู่อย่างนี้แล้ว ย่อมคลายความยึดมั่นถือมันในรูปได้

ปางที่ ๑๓ พระอวโลกิเตศวรหนึ่งกลีบ (一葉觀音อีแย่กวนอิน)
รูปลักษณะ : ทรงประทับบนกลีบของดอกบัว ๑ กลีบลอยอยู่บนผิวน้ำ พระชานุ(เข่า)ซ้ายยืดตรง พระหัตถ์ซ้ายวางอยู่บนเข่า พระหัตถ์ขวาห้อยต่ำยันร่างกายเอาไว้
เทียบในสมันตมุข : ฉบับสันสกฤตหน้าที่ ๒๓๙ ย่อหน้าที่ ๑ “ดูก่อนกุลบุตร สัตว์เหล่าใดท่องจำนามของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์มหาสัตว์ ก็จะหลุดพ้นจากกองทุกข์นั้นได้ ดูก่อนกุลบุตร ถ้าสัตว์ทั้งหลายถูกกระแสน้ำพัดพาไป พึงกระทำการเรียกพระนาม ของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์มหาสัตว์ แม่น้ำทั้งปวงเหล่านั้นจะให้ความรักเอ็นดูแก่สัตวเหล่านั้น ดูก่อนกุลบุตร ถ้าสัตว์จำนวนร้อยพันหมื่นโกฏิ ลงเรือไปในท่ามกลางสมุทร ทรัพย์สินที่สร้างไว้เช่นเงิน ทอง แก้วมณี มุดดา เพชร ไพฑูรย์ สังข์ ประพาฬ มรกต สุมาร์คลวะและมุกแดงเป็นต้น(จะเสียหาย) เรือของเขาถูกพายุพัดไปติดเกาะของรากษส ถ้าในเรือนั้นพึงมีสัตว์ผู้หนึ่ง กระทำการเรียกพระนามของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์มหาสัตว์ เขาเหล่านั้นทั้งหมด จะรอดพ้นจากเกาะของรากษสนั้น ดูก่อนกุลบุตรเพราะเหตุนี้เอง พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์มหาสัตว์ จึงได้ชื่อว่า อวโลกิเตศวร” อนึ่งยังมักจะเทียบกับการที่พระอวโลกิเตศวรสามารถนิรมาณกายเป็นรูปนายบ้าน เพื่อแสดงธรรมโปรดสัตว์ที่เหมาะสมกับรูปนายบ้านได้
อธิบาย : บางครั้งก็เรียกว่าพระอวโลกิเตศวรแห่งกลีบบัว เพราะทรงมีกลีบบัวเป็นพาหนะจึงชื่อว่าพระอวโลกิเตศวรหนึ่งกลีบ ปางนี้บางครั้งก็เรียกว่าพระอวโลกิเตศวรแห่งทะเลใต้ (ดูรายละเอียดในประวัติผู่ทัวซาน)

ปางที่ ๑๔ นีลกัณฐอวโลกิเตศวร (青頸观音ชิ่นจิ่นกวนอิน)
รูปลักษณะ : ลักษณะทางประติมานวิทยาทั่วไปมักในพระหัตถ์ซ้ายถือดอกบัว พระหัตถ์ขวาทรงชูขึ้นระดับอก ทรงคุกเข่าบนอาสนะ ประทับนั่งอยู่บนโขดหิน ซึ่งมีที่มาจากพระสูตรที่เกี่ยวข้องกับพระนีลกัณฐ
เทียบในสมันตมุข : มักจะเทียบกับการที่พระอวโลกิเตศวรสามารถนิรมาณกายเป็นรูปพระพุทธเจ้า เพื่อแสดงธรรมโปรดสัตว์ที่เหมาะสมกับรูปพระพุทธเจ้าได้
อธิบาย : นีลกัณฐแปลว่าคอสีนิลหรือสีเขียวคล้ำ กล่าวกันว่าหากสัตว์เหล่าใดได้ระลึกถึงพระอวโลกิเตศวรแล้ว ย่อมห่างไกลจากความทุกข์ยากต่าง ๆ ย่อมหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งหลาย พระอวโลกิเตศวรปางนี้เป็นปางสำคัญปางหนึ่งในทางมนตรยาน อีกทั้งพบชื่อนี้ในมหากรุณาธารณีสูตร กล่าวกันว่าเมื่อครั้งที่พวกเทวดาได้กวนเกษียรสมุทรเพื่อทำน้ำอมฤต ในทะเลได้เกิดพิษขึ้นมา เมื่อพระอวโลกิเตศวรเห็นดังนั้นเกรงจะเป็นอันตรายต่อสัตว์ทั้งหลาย จึงทรงกลืนกินพิษนั้น จึงทำให้พระศอหรือคอมีสีดำคล้ำ

ปางที่ ๑๕ อุครวติ-อวโลกิเตศวร (威德观音เวยเต๋อกวนอิน)
รูปลักษณะ : ปางนี้พระหัตถ์ขวาถือดอกบัว พระหัตถ์ซ้ายถือวัชระคฑาทรงประทับอยู่บนหินผา
เทียบในสมันตมุข : “พระอวโลกิเตศวรทรงปรากฏรูปเป็นเสนาบดี เพื่อแสดงธรรมโปรดผู้เป็นเสนาบดี”
อธิบาย : เสนาบดีนั้นเพรียบพร้อมไปด้วยอำนาจและคุณเป็นอเนก ประดุจดังอำนาจคือการกำราบ มุ่งปกป้องรักษาด้วยความรักความกรุณาคือคุณ รวมอยู่ในพระอวโลกิเตศวร ดังนั้นจึงได้ชื่อว่าอุครวติ-อวโลกิเตศวร ผู้มีคุณและพลานุภาพ

ปางที่ ๑๖ พระอายุวัฒนะอวโลกิเตศวร (延命觀音เยี๋ยนมิ่งกวนอิน)
รูปลักษณะ : ทรงครองผ้าทิพย์ ทรงสวมมหารัตนะมาลาบนพระเศียร เกยูรกำไลตลอดจนเส้นพระเกศานั้นงดงามยิ่ง ทรงช่วยเหลือทั้งหลายจึงมีพระหัตถ์ถึง ๒๐ พระหัตถ์ ทางซ้ายจากพระพักตร์ ๑๐ พระหัตถ์แรกทรงถือรัตนะมุดดา ดาบวิเศษ(ดาบรัตนะ) สุวรรณจักร ท่อนไม้วัชระ ป้ายประกาศไม้ กระดิ่งวัชระใหญ่ กระดิ่งวัชระ ดอกบัวใหญ่ อักษมาลา(ลูกประคำ) มุทราท่ากำมัด ทางขวาจากพระพักตร์ ๑๐ พระหัตถ์หลังทรงถือหอกเหล็ก ดาบวัชระ รูปพระพุทธเจ้า วัชระรัตนะ คันฉ่องรัตนะ วัชระบ่วงบาศ วัชระ วัชระคฑา ๕ ยอด วัชระและอเภตฺริมุทรา(มุทราแห่งความปราศจากความกลัว) ทรงมีรัศมีที่รุ่งโรจน์ยิ่งนัก พระบาททั้งสองมีลักษณะของลายกงจักรที่ประกอบด้วยดุมและกง ทรงสถิตมั่นอยู่ในจันทร์จักรบนดอกบัว
เทียบในสมันตมุข : ฉบับสันสกฤตหน้าที่ ๒๔๓ ข้อที่ ๑๒ กล่าวว่า “เวทมนตร์คาถา วิทยาของผู้มีพลัง ยาพิษ ภูต เวตาล ที่ทำให้ร่างกายถึงความหายนะได้ เมื่อเขาระลึกพระอวโลกิเตศวร สิ่งเหล่านั้นจะเสื่อมไปในทันที”
อธิบาย : จากข้างต้นพระอวโลกิเตศวรทรงนิรมาณกายมาเพื่อขจัดเวทมนตร์คาถา วิทยาของผู้มีพลัง ยาพิษ ภูต เวตาล ที่ทำให้ร่างกายถึงความหายนะได้ ดังนั้นจึงกล่าวว่าพระอวโลกิเตศวรผู้ทำให้มีอายุยืน

ปางที่ ๑๗ พระอวโลกิเตศวรทรงรัตนะมากมาย (众宝观音จ้งเป่ากวนอิน)
รูปลักษณะ : ปางนี้ทรงประทับอยู่บนแท่นหินผาริมน้ำ พระบาทเบื้องขวายื่นออกมาประทับอยู่บนหิน พระหัตถ์ขวากดแผ่นดิน พระหัตถ์ซ้ายตั้งอยู่ระดับพระนาภี (สะดือ) ในระดับที่เหมาะสม เมื่อมองดูแล้วสงบ
เทียบในสมันตมุข : “หากจะมีสัตว์โลกมีจำนวนนับด้วยร้อย พัน หมื่น แสน ก็ดี ต้องการแสวงหาทอง เงิน ไพฑูรย์ ผลึก ทับทิม มรกต บุศราคุม อันเป็นของมีค่า หากันแต่งเรือไปยังทะเลใหญ่ สมมติว่าในระหว่างนั้น เรือได้ถูกพายุพัดพาไปยังแว่นแคว้นอันเป็นที่อยู่ของรากษส หากจะมีแม่แต่คนหนึ่งในบรรดาคนเหล่านั้น สวดพระนามพระอวโลกิเตศวร แล้วไซร์ สัตว์โลกเหล่านั้นทุกคนจะได้รับความรอดพ้นจากอันตรายของรากษส ด้วยเหตุนี้แลพระโพธิสัตว์เจ้าองค์นั้น จึงได้รับสมญานามว่า “อวโลกิเตศวร”
อธิบาย : อนึ่งยังเทียบได้กับพระอวโลกิเตศวรที่ทรงแสดงธรรมได้ในรูปของเศรษฐี ดังที่ได้ปรากฏในคัมภีร์สัทธรรมปุณฑริกสูตร สมันตมุขปริวรรต ด้วยเหตุเหล่านี้เองกวนอินปางนี้จึงได้ชื่อว่าอวโลกเตศวรทรงรัตนะมากมาย

ปางที่ ๑๘ อวโลกิเตศวรประตูหิน (巖戶观音เอี๋ยนฮู่กวนอิน)
รูปลักษณะ : ปางนี้ทรงประทับนั่งขัดสมาธิด้วยพระวรกายที่ตั้งตรง บนดอกบัวแล้วพนมมือ ภายในถ้ำหินปรากฏแสงที่สว่างโชติช่วง
เทียบในสมันตมุข : “เมื่อใดมีงูพิษตลอดจนแมลงมีพิษร้าย มีไอพิษเหมือนควันไฟลุกไหม้ ด้วยอำนาจแห่งการระลึกถึงพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ด้วยเสียงของเขานั้นทำให้สัตว์เหล่านั้นหนีหายไป”
อธิบาย : เหตุที่สัตว์มีพิษเหล่านั้นมักจะอาศัยอยู่ในถ้ำหลายชนิด หากได้ระลึกถึงพระอวโลกิเตศวรแล้ว พระองค์ย่อมช่วยให้พ้นภัย ดังนั้นกวนอิมปางนี้จึงมีรูปแบบที่ประทับอยู่ในถ้ำ

ปางที่ ๑๙ พระอวโลกิเตศวรทรงทำความสงบ (能靜觀音เหนิงจิ้งกวนอิน)
รูปลักษณะ : ทรงนั่งขัดสมาธิบนโขดหินบริเวณริมทะเล(น้ำ) พระหัตถ์ทั้งสองวางอยู่บนโขดหินอย่างเป็นธรรมชาติ พระบาทซ้ายยื่นออกมา พระบาทขวาโค้งงอ แม้มีลมแรงพัดพามาก็ไม่หวั่นไหว ปรากฏลักษณะที่สงบนิ่ง
เทียบในสมันตมุข : ฉบับสันสกฤตหน้าที่ ๒๓๙ ย่อหน้าที่ ๑ “ดูก่อนกุลบุตร สัตว์เหล่าใดท่องจำนามของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์มหาสัตว์ ก็จะหลุดพ้นจากกองทุกข์นั้นได้ ดูก่อนกุลบุตร ถ้าสัตว์ทั้งหลายถูกกระแสน้ำพัดพาไป พึงกระทำการเรียกพระนาม ของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์มหาสัตว์ แม่น้ำทั้งปวงเหล่านั้นจะให้ความรักเอ็นดูแก่สัตวเหล่านั้น ดูก่อนกุลบุตร ถ้าสัตว์จำนวนร้อยพันหมื่นโกฏิ ลงเรือไปในท่ามกลางสมุทร ทรัพย์สินที่สร้างไว้เช่นเงิน ทอง แก้วมณี มุดดา เพชร ไพฑูรย์ สังข์ ประพาฬ มรกต สุมาร์คลวะและมุกแดงเป็นต้น(จะเสียหาย) เรือของเขาถูกพายุพัดไปติดเกาะของรากษส ถ้าในเรือนั้นพึงมีสัตว์ผู้หนึ่ง กระทำการเรียกพระนามของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์มหาสัตว์ เขาเหล่านั้นทั้งหมด จะรอดพ้นจากเกาะของรากษสนั้น ดูก่อนกุลบุตรเพราะเหตุนี้เอง พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์มหาสัตว์ จึงได้ชื่อว่า อวโลกิเตศวร” หรือในโศลกฉบับสันสกฤตหน้า ๒๔๒ ข้อที่ ๖ “หากว่าบุคคลทำให้เขาตกไปในมหาสมุทรที่ลึกยิ่ง (ยากที่จะหยั่งถึง) อันเป็นที่อยู่ของนาค สัตว์น้ำและปีศาจ เมื่อเขาระลึกถึงพระอวโลกิเตศวร เขาก็จะไม่จมลงไปในทะเลหลวง”
อธิบาย : กวนอินปางนี้ที่ชื่อว่าทำความสงบ เพราะทรงนิรมาณกายไปช่วยเหลือสัตว์ทั้งหลายจึงทำให้เภทภัย ความทุกข์ยากของหายไปได้ จึงได้ชื่อว่าทำความสงบให้เกิดขึ้น

ปางที่ ๒๐ อนุ-อวโลกิเตศวร (阿耨觀音 ออโน่วกวนอิน)
รูปลักษณะ : ทรงประทับอยู่บนหินผา ทรงครองผ้าทิพย์สีทอง พระหัตถ์ซ้ายถือผ้าอยู่ระดับหน้าท้อง พระหัตถ์ขวาปล่อยวางไว้บนเข่าขวา พินิจพิจารณาลักษณะของทะเลที่สงบนิ่ง
เทียบในสมันตมุข : ฉบับของท่านกุมารชีวะกล่าวไว้ว่า “แม้บางครั้งหากพลัดพเนจรไปในทะเลที่กว้างใหญ่ ประสบภัยจากนาค ปลา ผีทั้งหลายเหล่านี้ ด้วยอำนาจของการระลึกถึงพระอวโลกิเตศวร คลื่นไม่สามารถซัดสาดให้จมน้ำได้” อธิบาย : เนื่องด้วยในทะเลที่กว้างใหญ่มีนาคและปลาในสระอโนดาต (อนวตปฺต) อยู่เป็นเหตุปัจจัย เหตุนั้นจึงกล่าวขานว่า อนุ-อวโลกิเตศวร

ปางที่ ๒๑ พระอเภตฺริอวโลกิเตศวร (阿摩提觀音อาหมอถีกวนอิน)
รูปลักษณะ : ทรงมีพระเนตร ๓ ดวง ๔ พระหัตถ์ ทรงราชสีห์สีขาวเป็นพาหนะ มีนั่งบนโขดหินบ้าง ทรงสวมมงกุฎรัตนมาลา พระหัตถ์ขวากรที่ ๑ ทรงถือดอกบัวสีขาว พระหัตถ์ขวากรที่ ๒ ทรงถือนกหงส์มงคลสีขาว พระหัตถ์ซ้ายกรที่ ๑ ทรงถือเครื่องดนตรีประเททเครื่องสายรูปหัวนกหงส์ตัวผู้ ซึ่งจำนวนสายจะต่างกันไปตามขนาด พระหัตถ์ซ้ายกรที่ ๒ ทรงถือมกร(สัตว์ทะเลซึ่งอาจจะเป็นปลาใหญ่เช่นเต่าใหญ่หรือปาวาฬ) พระบาทขวาห้อยลงต่ำ งอพระบาทซ้ายเหยีบลงบนหัวราชสีห์
เทียบในสมันตมุข : “พระอวโลกิเตศวรทรงนิรมาณกายเป็นรูปของพระเวสสุวรรณเพื่อแสดงธรรม แก่ผู้ที่สมควรโปรดด้วยรูปของพระเวสสุวรรณ”
อธิบาย : คำว่า “อเภตฺริ” บ้างก็เขียนว่า “อเภตฺติ” แปลว่าผู้ไม่มีความกลัว หรือผู้หาความกลัวมิได้

ปางที่ ๒๒ พระปลาศาวลินฺอวโลกิเตศวร (葉衣觀音แย่อีกวนอิน)
รูปลักษณะ : มักพบว่าทรงประทับนั่งบนโขดหินที่ลาดด้วยหญ้า ในคัมภีร์ปลาศาวลินฺอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์สูตรกล่าวว่า “ทรงมีรูปเป็นเทวนารี สวมมงกุฎรัตนมาลาบนพระเศียร ประดิษฐานรูปพระอมิตายุพุทธเจ้าในใจกลางรัตนะมาลา พระวรกายประดับตกแต่งด้วยเกยูรสร้อยกำไลของมีค่าต่าง ๆ ตลอดจนปรากฏรัศมีจากพระวรกายสว่างยิ่งนัก ทรงมีถึง ๔ กร กรที่ ๑ ด้านขวาทรงถือผลมงคลไว้ในระดับอก กรที่ ๒ ด้านขวาทรงทำท่าทานประณิธานมุทรา กรที่ ๑ ด้านซ้ายทรงถือขวาน กรที่ ๒ ด้านซ้ายทรงถือบ่วงบาศ ทรงประทับนั่งบนดอกบัว
เทียบในสมันตมุข : “พระอวโลกิเตศวรทรงแปลงเป็นรูปพระอินทร์ เพื่อการแสดงธรรม ในรูปของพระอินทร์ได้”
อธิบาย : กวนอินปางนี้ก็คือพระปลาศาวลินฺอวโลกิเตศวรในครรภ์ธาตุมณฑล มีพระสูตรที่กล่าวถึงพระองค์เป็นการเฉพาะ มักถือกันว่ากวนอินปางนี้ทรงประทานความมีอายุยืนความไม่มีโรค คำว่า “ปลาศาวลินฺอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์” หมายถึงพระอวโลกิเตศวรผู้นุ่งใบไม้แทนผ้า

ปางที่ ๒๓ พระไวฑูรยอวโลกิเตศวร (琉璃觀音หลิวหลีกวนอิน)
รูปลักษณะ : ทรงมีกลีบดอกบัวเป็นพาหนะ ประทับยืนบนผิวน้ำ พระหัตถ์ทั้งสองประคองบาตรไวฑูรย
เทียบในสมันตมุข : ฉบับสันสกฤตหน้าที่ ๒๔๓ ข้อที่ ๑๐-๑๑ “ถ้าบุคคล ต้องโทษจองจำอยู่ในหลักประหาร เมื่อเขาระลึกถึงพระอวโลกิเตศวร อาวุธ(ของเพชฌฆาต)ก็จะแตกละเอียด (เป็นท่อนเล็กท่อนใหญ่) อีกหนึ่งบ้างท่านก็เทียบกับ “พระอวโลกิเตศวรทรงแปลงเป็นรูปพระอิศวร เพื่อการแสดงธรรม ในรูปของพระอิศวรได้”
อธิบาย : คำว่า “ไวฑูรย์” หรือไพฑูรย์นั้นเป็นอัญมณีชนิดหนึ่งซึ่งมีสีฟ้า อนึ่งยังมีอีกชื่อว่า “อุตมราชาอวโลกิเตศวร” ซึ่งมีที่มาจากคัมภีร์อุตมราชาอวโลกิเตศวรสูตร พระโพธิสัตว์นั้นช่วยสัตว์ทั้งหลายให้พ้นทุกข์ หากท่องพระสูตรนี้หนึ่งพันจบ ผู้ที่ตายแล้วยังจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ เรื่องนี้มีที่มาจากในสมัยที่ราชวงศ์เว่ยเหนือแตกออกเป็นเว่ยตะวันออกในระหว่างศักราชไท่ผิงราวค.ศ.๕๓๔-๕๓๗ มีนายทหารผู้หนึ่ง ขณะที่อยู่ในเวลาป้องกันชายแดน ได้สร้างรูปเคารพของพระอวโลกิเตศวรไว้แล้วเคารพไหว้กราบอย่างสม่ำเสมอ ต่อมาได้โดยสารไปยังพวกฮวนที่อยู่ทางทิศเหนือและทางตะวันออกของจีน ได้ต้องโทษประหาร ณ ที่นั้น ในระว่างคืนนั้นได้ฝันเห็นพระสมณะรูปหนึ่ง มาแนะน้ำให้สวดสาธยายพระสูตรที่ว่าด้วยเรื่องพระอวโลกิเตศวรช่วยชีวิต หลังจากที่ได้ตื่นยอนแล้วก็ท่องได้หนึ่งร้อยจบ เมื่อเวลาสำเร็จโทษใกล้จะมาถึงเขาได้ท่องครบถึงพันจบพอดี อาวุธที่จะนำมาประหารนั้นไม่สามารถทำอะไรเขาได้เลย จึงรอดพ้นความตายมาได้นายคนนั้นจึงได้มากราบไหว้รูปของพระอวโลกิเตศวร ในคืนที่ได้ฝันเห็นถึงสมณะนั้น สมณะผู้นั้นได้มอบพระสูตรไว้ให้ด้วยมีชื่อว่า “อุตมราชาอวโลกิเตศวรสูตร” หรือ “อายุวัฒนะทศวจีอวโลกิเตศวรสูตร”

ปางที่ ๒๔ พระตาราอวโลกิเตศวร (多羅觀音 ตัวหลอกวนอิน)
รูปลักษณะ : ทรงประทับยืนอยู่บนก้อนเมฆ บ้างก็ทรงนั่งขัดสมาธิบนโขดหิน มีลักษณะที่พิจาณาเพ่งมองมาที่สัตว์ทั้งหลาย ทรงมีร่างเป็นหญิงแย้มพระโอษฐ์เล็กน้อย ครองอาภรณ์สีขาวใหม่เอี่ยม ทรงมีพระวรกายที่งดงามมาก ในเวลาที่ทรงพนมมือ ในมือนั้นทรงถือดอกอุบล(บัวเขียว)
เทียบในสมันตมุข : ฉบับสันสกฤตหน้าที่ ๒๔๓ ข้อที่ ๙ “ถ้าบุคคล ถูกหมู่ศัตรูที่มีอาวุธครบมือล้อมไว้ ด้วยจิตคิดจะเบียดเบียน เมื่อเขาระลึกถึงพระอวโลกิเตศวร ศัตรูก็จะเกิดจิตเมตตาขึ้นในขณะนั้น”
อธิบาย : พระตารานั้นเป็นนิรมาณกายของพระอวโลกิเตศวร ทรงเพศเป็นหญิง (ดูลายละเอียดเพิ่มเติมในบทพระแม่ตารา)

ปางที่ ๒๕ พระอวโลกิเตศวรหอยกาบ (蛤蜊觀音เก๋อะลี่กวนอิน)
รูปลักษณะ : ทรงประทับอยู่ในหอยกาบ
เทียบในสมันตมุข : “พระอวโลกิเตศวรทรงแปลงเป็นรูปพระโพธิสัตว์ เพื่อการแสดงธรรม ในรูปของพระโพธิสัตว์ได้”
อธิบาย : ในบันทึกเรื่องราวพระพุทธเจ้าโดยครอบคลุม(佛祖統紀) ผูกที่ ๔๒ กล่าวว่าปางนี้เกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์ถัง สมัยพระเจ้าเหวินจง(文宗) ราวค.ศ.๘๒๗-๘๔๐ ในตอนที่กษัตริย์พระองค์นี้เริ่มเปิดศักราชแห่งการปกครองใหม่ ๆ กษัตริย์พระองค์นี้โปรดปรานการกินหอยกาบมาก ทุก ๆ วันสัตว์ต่อตายลงเป็นอันมาก วันหนึ่งผ่าหอยไม่มีผู้ใดผ่าหอยได้เลย จึงได้จุดธูปของพร ทันใดนั้นหอยกาบก็ได่กลายร่างเป็นรูปพระโพธิสัตว์ในทันที กษัตริย์จึงได้ตรัสเรียกอาจารย์ในนิกายเซน(ฌาน) มาสอบถามถึงสาเหตุเรื่องนี้ พระสงฆ์นั้นตอบว่าเป็นการเนรมิตการเพื่อแสดงธรรมให้มหาบพิตรเลิกเสวยหอย การที่พระโพธิสัตว์นั้นปรากฏร่างเป็นสิ่งที่หาได้ยาก ทำจึงไม่ศรัทธาแล้วเลิกเสวยหอยอีกเล่า กษัตริย์เกิดความปิติยินดี จึงได้มีพระราชโองการให้สร้างรูปกวนอินปางนี้ขึ้นในวัดเป็นคนแรก

ปางที่ ๒๖ ษฑฺฤตวอวโลกิเตศวร (六時觀音ลิ่วสือกวนอิน)
รูปลักษณะ : ทรงประทับยืน พระหัตถ์ขวาทรงถือคัมภีร์ที่จารด้วยใบลาน
เทียบในสมันตมุข : ฉบับสันสกฤตหน้า ๒๔๓ ข้อที่ ๑๘ “พระองค์ (อวโลกิเตศวร) ผู้มีกำลังญาณ อันบริสุทธิ์ ทรงพิจารณาเห็นสัตว์ทั้งหลาย ที่ถูกความทุกข์หลายร้อนประการกดขี่ เบียดเบียน จึงเป็นผู้คุ้มครองสัตว์โลกทั้งหลาย รวมทั้งเทวดาให้รอดพ้นจากความทุกข์นั้น” อนึ่งยังเทียบกับพระอวโลกิเตศวรทรงแปลงเป็นรูปคฤหบดีได้ เพื่อการแสดงธรรม ในรูปของคฤหบดี
อธิบาย : ในประเทศอินเดียมีความกว้างใหญ่ แต่ละพื้นที่ย่อมแตกต่างกันจึงทำให้มีฤดูกาลที่หลายรูปแบบ ๑ ปีมี ๓ ฤดูบ้าง ๑ ปีมี ๖ ฤดูบ้าง ดังที่พบในวรรณคดีสันสกฤตและบาลี คำว่า “ษฑฺฤตว” แปลว่าฤดูกาลที่ ๑ ปีมี ๖ ฤดูคือวสนฺตหรือวสันต์ฤดูเดือนไทยคือเดือน๕-๖ คฺศีษฺมหรือคิมหันต์ฤดูเดือนไทยคือเดือน๗-๘ วรฺษาหรือวัสสานฤดูเดือนไทยคือเดือน๙-๑๐ ศรทฺหรือสรทฤดูเดือนไทยคือเดือน๑๑-๑๒ เหมนฺตหรือเหมันตฤดูเดือนไทยคือเดือนอ้าย-ยี่ ศิศิรหรือสิสิรฤดูเดือนไทยคือเดือน๓-๔ กวนอินปางนี้หมายถึงพระอวโลกิเตศวรทรงเมตตาสัตว์ทั้งหลายในทุกฤดู ทุกเช้าทุกเย็น จึงเรียกว่า “ษฑฺฤตวอวโลกิเตศวร” หรือกวนอิน ๖ ฤดู

ปางที่ ๒๗ สมันตกรุณาอวโลกิเตศวร (普悲观音ผู่เปยกวนอิน)
รูปลักษณะ : ทรงประทับยืนบนยอดเขา พระหัตถ์ทั้งสองซ่อนธรรมอาภรณ์อยู่อยู่ด้านหน้า
เทียบในสมันตมุข : “พระอวโลกิเตศวรทรงแปลงเป็นรูปพระมเหศวรได้ เพื่อการแสดงธรรม ในรูปของพระมเหศวรได้”
อธิบาย : พระมเหศวรทรงเป็นเทพผู้ยิ่งใหญ่สูงสุดในสามโลก ทรงมีอานุภาพมากมาย เปรียบดังความเมตตากรุณาความรักที่มีต่อสัตว์ทั้งหลายของพระอวโลกิเตศวรที่แผ่ซ่านไปทั่วตริสหัสมหาสหัสโลกธาตุ ด้วยเหตุนี้เองจึงชื่อว่า “สมันตกรุณาอวโลกิเตศวร” ผู้มีความกรุณาที่ปกคลุมไปทั่ว

ปางที่ ๒๘ พระอวโลกิเตศวรภรรยาของหม่าหลาง (馬郎婦觀音หม่าหลางฟู่กวนอิน)
รูปลักษณะ : ปางนี้ทรงนิรมาณกายเป็นภรรยาของนายหม่าหลาง พระหัตถ์ขวาถือคัมภีร์สัทธรรมปุณฑรีกสูตร พระหัตถ์ซ้ายถือหัวกะโหลกหรือที่ในภาษาสันสกฤตเรียกว่า “ชัฏวางคะ”
เทียบในสมันตมุข : พระอวโลกิเตศวรทรงแปลงเป็นรูปหญิงภรรยาได้ เพื่อการแสดงธรรม ในรูปของหญิงภรรยา
อธิบาย : ในตำนานกล่าวกันว่า ในสมัยพระเจ้าเซี่ยนจง แห่งราชวงศ์ถัง ศักราชหยวนเหอปีที่ ๑๒ ราวค.ศ.๘๑๗(唐憲宗元和十二年) แต่บางแห่งกล่าวว่าปีที่ ๔ ไม่ใช่ปีที่ ๑๒ มีหญิงชาวประมงรูปร่างสวยงาม นำปลาหลายตัวใส่ตะกร้าไปขายในละแวกหมู่บ้านชาวประมงที่ไม่มีศาสนาและศีลธรรมจรรยา โดยกำหนดเงื่อนไขแก่ผู้ซื้อว่า จะขายปลาให้ก็ต่อเมื่อซื้อปลาเพื่อเอาไปปล่อยเท่านั้น ซึ่งถูกมองว่าเป็นเรื่องโง่เขลา น่าขบขัน ไม่มีผู้ซื้อปลาจากแม้จะทรงเดินขายอยู่หลายวัน อย่างไรก็ดีมีชายหนุ่มหลายคนมาหลงรักหญิงสาวนั้น และได้พากันมาสารภาพขอแต่งงานด้วย พระองค์ไม่ทรงรับและไม่ปฏิเสธ แต่ตั้งเงื่อนไขให้บุคคลเหล่านั้นถือศีลสวดมนต์ ตั้งตนเป็นสัมมาทิฐิเลื่อมใสในพระรัตนตรัย โดยคืนแรกหญิงนั้นกล่าวว่าให้สวดสาธยานสมันตมุขปริวรรต พอยามฟ้าสางเหลือคนท่องแค่ ๒๐ คน หญิงนั้นจึงมอบวัชรสูตรให้ในอีกคืนหนึ่ง โดยกล่าวว่าถ้าใครสาธยายได้สำเร็จจะให้เป็นสามี ก็เหลือผู้ที่ท่องเพียงแค่ ๑๐ คน หญิงนั้นจึงได้มอบสัทธรรมปุณฑริกสูตรฉบับของพระกุมารชีพให้อีก แล้วบอกว่าอีกสามวันให้หลังเจอกัน พอถึงวันนัดหมาย มีเพียงชายวัยหนุ่มสาวแซ่หม่า(馬) ที่เข้าใจพระสูตรอย่างทั่วถึง จึงได้หญิงนั้นไปเป็นภรรยา แต่ทว่าหญิงนั้นได้เป็นโรคอยู่แต่ในห้องและได้ถึงแก่กรรมลงเมื่อถึงวันแต่งงาน หลังจากนั้นก็ได้มีพิธีฌาปนกิจ แต่ร่างกายที่เน่าเปื่อยได้สลายหายไปในอากาศ หลังจากนั้นได้มีพระภิกษุเฒ่ารูปหนึ่งครองจีวรสีครั่ง(แดง) ได้ไปยังที่ฌาปนกิจนั้นได้เพ่งดูสุดชีวิต เห็นเพียงกระดูกไหลปลาร้าสีเหลืองทองยังมีอยู่ พระภิกษุเฒ่ารูปนั้นจึงกล่าวแก่มหาชนว่า “นั้นคือ(นิรมาณกายของ)พระอวโลกิเตศวรมหาบุรุษ ที่ทรงเมตตากรุณาต่อท่านทั้งหลาย เนื่องด้วยมีสิ่งขวางกั้นที่หนักยิ่งนักจึงได้เนรมิตมาสั่งสอนท่านทั้งหลายโดยความเหมาะสมทางโสตประสาท” พอพูดจบก็เหาะจากไป เหตุนี้เองมหาชนจึงเกิดศรัทธาในพระพุทธเจ้าเป็นอันมาก ต่อมาในสมัยราชวงศซ่งก็ลดลง แต่ทว่าพระอวโลกิเตศวรภรรยาของหม่าหลางนั้นกลับมีผู้คนศรัทธาอย่างเจริญรุ่งเรือง ปางนี้เป็นปางเดียวกับปางที่ ๑๐ ที่ถือตะกร้าปลา

ปางที่ ๒๙ อวโลกิเตศวรพนมมือ (合掌觀音เหอจั่งกวนอิน)
รูปลักษณะ : ทรงครองผ้าสีขาว นั่งประคองอัญชลีอยู่บนโขดหินบ้าง ประทับยืนประคองอัญชลีบ้าง
เทียบในสมันตมุข : ในคัมภีร์นั้นได้กล่าวไว้ว่าพระอวโลกิเตศวรทรงนิรมาณกายเพื่อช่วยเหลือสัตว์ทั้งหลาย จึงได้นิรมาณกายถึง ๓๓ ปาง หนึ่งในนั้นมีรูปกายของพรามณ์ ซึ่งเทียบกับปางพนมมือนี้ อนึ่ง ในคัมภีร์ยังได้มีกล่าวว่า “ดูก่อนกุลบุตร สัตว์ทั้งหลายผู้มีราคจริต เมื่อได้นมัสการพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์มหาสัตว์แล้ว ก็จักเป็นผู้ปราศจากราคะ สัตว์ทั้งหลายผู้มีโทสจริต เมื่อได้นมัสการพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์มหาสัตว์แล้ว ก็จักเป็นผู้ปราศจากโทสะ สัตว์ทั้งหลายผู้มีโมหจริต เมื่อได้นมัสการพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์มหาสัตว์แล้ว ก็จักเป็นผู้ปราศจากโมหะ ดูก่อนกุลบุตร พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์มหาสัตว์ เป็นผู้มีฤทธิ์มากอย่างนี้” (หน้า ๒๔๐ ย่อหน้าที่ ๒)
อธิบาย : ความนอบน้อมเป็นลักษณะของปราชญ์ จากข้างต้นแสดงให้เห็นว่าความนอบน้อมมีผลอย่างไร ถือเป็นคำสอนจากพระอวโลกิเตศวรปางนี้

ปางที่ ๓๐ พระอวโลกิเตศวรเอกตถตา (一如觀音อิหรู่กวนอิน)
รูปลักษณะ : ทรงประทับบนก้อนเมฆ เหะเหินไปในนภาอากาศ
เทียบในสมันตมุข : ฉบับของพระกุมารชีพแปลว่า “เมฆทะมึน ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า ลูกเห็บตก ลมฝนพายุใหญ่ ด้วยอำนาจแห่งการระลึกถึงพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ สิ่งต่าง ๆ ในเวลานั้นย่อมจักสลายหายไป” เทียบที่อ้างแล้วในปางที่ ๓๓ อันเป็นข้อความในฉบับภาษาสันสกฤต
อธิบาย : คำว่า “เอกตถตา” คือเป็นหนึ่งเดียว ไม่เป็นสอง มีใจความว่าไม่มีสิ่งใดที่แตกต่างกัน สิ่งนี้กล่าวคือปรมัตถ์สัจจะ อันเป็นสิ่งที่ไม่มีสิ่งขวางกั้น ปกคลุมทั่วธรรมธาตุ พระอวโลกิเตศวรทรงมีปัญญาที่ประเสริฐ พินิจพิจารณาเอกตถตาธรรมนี้ อีกทั้งพระอวโลกิเตศวรยังทรงสามารถสั่งกำราบเมฆทะมึน ฟ้าร้อน ฟ้าฝ่า ภัยธรรมชาติต่าง ๆ ที่เกิดจากมารได้อีกด้วย

ปางที่ ๓๑ พระอวโลกิเตศวรทรงไม่เป็นสอง (不二觀音ปู้เอ้อกวนอิน)
รูปลักษณะ : พระหัตถ์ทั้งสองถือวัชระคฑา ทรงประทับบนกลีบบัวบ้าง ทรงนั่งขัดสมาธิบนโขดหินบ้าง
เทียบในสมันตมุข : เทียบกับการที่พระอวโลกิเตศวรสามารถนิรมาณกายเป็นรูปของพระวัชรปาณี เพื่อแสดงธรรมโปรดสัตว์ที่เหมาะสมกับรูปของพระวัชรปาณีได้
อธิบาย : ที่เทียบกับพระวัชระปาณีนั้นเพราะพระวัชรปาณีทรงเป็นผู้ทรงธำรงรักษาพระพุทธเจ้า พระอวโลกิเตศวรก็เป็นเช่นเดียวกัน ทรงเป็นหนึ่งเดียวกันไม่แบ่งแยกว่านั้นเธอนั้นฉัน นั้นของเธอ นั้นของฉัน จึงชื่อว่าไม่เป็นสอง คือปราศจากความแตกต่าง แบ่งแยกนั่นเอง

ปางที่ ๓๒ พระอวโลกิเตศวรทรงบัว (持蓮觀音ฉือเหลียนกวนอิน)
รูปลักษณะ : ทรงถือดอกบัวหนึ่งก้านในพระหัตถ์ทั้งสอง ทรงประทับยืนบนกลีบดอกบัว ทรงสวมรัตนะมาลาบนพระเศียร ครองผ้าทิพย์ เกยูรสร้อยกำไลต่าง ๆ งดงามบริบูรณ์ยิ่งนัก
เทียบในสมันตมุข : มักเทียบกับการที่พระอวโลกิเตศวรสามารถนิรมาณกายเป็นรูปกุลบุตรและกุลธิดา เพื่อแสดงธรรมโปรดสัตว์ที่เหมาะสมกับรูปของกุลบุตรและกุลธิดาได้

ปางที่ ๓๓ พระอวโลกิเตศวรโปรยน้ำ(灑水觀音ส่าสุยกวนอิน)
รูปลักษณะ : ในพระหัตถ์ซ้ายทรงถือคนโทบริสุทธิ์บ้าง บาตรบ้าง พระหัตถ์ขวาถือกิ่งหลิ่วเพื่อใช้ในการโปรยน้ำอมฤต ทรงประทับยืนบนพื้นดินบ้าง เมฆบ้าง
เทียบในสมันตมุข : “เมื่อฝนตก ปรากฏสายฟ้า ฟ้าร้อง ฟ้าแลบและฟ้าผ่า เมื่อเขาระลึกถึงพระอวโลกิเตศวร เหตุการณ์เหล่านั้นก็จะหมดพิษไปในทันที” (หน้า ๒๔๓ ข้อที่ ๑๖) ในภาษาจีนฉบับของท่านกุมารชีวะแปลไว้ว่า “การประกอบด้วยศีลและความกรุณา เสมือนฟ้าร้องสะเทือน เมตตาจิตเสมือนเมฆใหญ่ที่ประเสริฐ โปรยฝนคืออมฤตธรรม ขจัดไฟแห่งกิเลสที่เร่าร้อน”
อธิบาย : น้ำที่ใช้โปรยนั้น เป็นน้ำแห่งอมฤตธรรม ซึ่งคือพระนิพพาน อันมีสภาพสงบระงับ และเป็นทางที่ไม่ตาย

รายการอ้างอิง.
望月佛教大辞典
สัทธรรมปุณฑรีกสูตรฉบับแปลจากสันสกฤตของวัดโพธิ์แมน
พจนานุกรมพุทธศาสนาจีน-สันสกฤต-อังกฤษ-ไทย
พระไตรปิฏกจีนฉบับไตโช

ขอบคุณที่มา