พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์แห่งความเมตตากรุณา

เจ้าแม่กวนอิม กวนซืออิม 观世音 หรือ กวนอิม 观音 เป็นพระโพธิสัตว์แห่งความเมตตากรุณา ทรงเป็นผู้สดับเสียงของชาวโลก ทรงสามารถบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณได้ แต่ทรงยับยั้งไว้เนื่องจากความกรุณาสงสารต่อสรรพสัตว์

เจ้าแม่กวนอิม เป็นพระโพธิสัตว์ของพุทธศาสนาฝ่ายมหายานที่มีผู้รู้จักและศรัทธามากที่สุด เป็นพระโพธิสัตว์ที่ได้รับการกราบไหว้บูชาจากชาวจีนทั่วทุกมุมโลก และแพร่หลายไปอย่างกว้างขวางในทุก ๆ ที่ที่มีชาวจีนอาศัยอยู่ ในคตินิยมทางสัญลักษณ์วัฒนธรรมมงคลของจีน องค์เจ้าแม่กวนอิม คือ พระผู้ทรงเปี่ยมด้วยความรักความเมตตาต่อสรรพสัตว์ เป็นพระผู้เปี่ยมด้วยความกตัญญู และเป็นสัญลักษณ์แห่งเมตตามหาการุณย์เพื่อโปรดสัตว์ให้หลุดพ้นจากห้วงทุกข์ ดังคำปณิธานของพระองค์ที่ว่า หากยังมีสัตว์ตกทุกข์ได้ยากอยู่ ก็จะไม่ขอบรรลุพุทธภูมิ

พระโพธิสัตว์กวนอิม คือ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร

เจ้าแม่กวนอิม เป็นพระโพธิสัตว์ของพุทธศาสนามหายาน และเป็นองค์เดียวกับพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ โดยมีความเชื่อว่าพระอวโลกิเตศวรนั้นสามารถแบ่งภาคเพื่อโปรดสรรพสัตว์ได้มากมายทั้งปางบุรุษและสตรี
ในภาษาสันสกฤต คำว่า พระอวโลกิเตศวร (Avalokitesvara) แปลว่า พระผู้เฝ้ามองดูด้วยความเมตตากรุณา หรือ พระผู้ทรงสดับฟังเสียงร้องไห้ของสัตว์โลก ซึ่งก็ตรงกับความหมาย กวนอิม ของพุทธศาสนา

พระนามเจ้าแม่กวนอิม

ในพุทธศาสนาฝ่ายมหายานที่แพร่หลายในจีน ญี่ปุ่น เกาหลี คำว่า พระโพธิสัตว์ เรียกว่า ผูซ่า 菩萨 หรือ ผ่อสัก ในสำเนียงแต้จิ๋ว คือ ผู้ซึ่งตั้งจิตแน่วแน่ในการบำเพ็ญเพียรเพื่อที่จะเป็นพระพุทธเจ้าต่อไปในอนาคต จึงมีการสร้างสมบุญบารมีเพื่อโปรดสัตว์โลกให้พ้นจากทุกข์

พระนามของเจ้าแม่กวนอิม ในภาษาจีน มีอยู่ด้วยกันหลายชื่อ ส่วนใหญ่แล้วในสำเนียงจีนกลางจะนิยมเรียกว่า กวนอินผูซ่า 观音菩萨 หรือ กวนซื่ออินผูซ่า 观世音菩萨 แต่สำหรับชาวไทยแล้วจะเรียก เจ้าแม่กวนอิม หรือ พระโพธิสัตว์กวนอิม

ทั้งนี้ พระนามเดิมที่เรียกเจ้าแม่กวนอิมคือ กวนซื่ออิน 观世音 หรือ กวนซีอิมในภาษาจีนแต้จิ๋ว แต่เนื่องจากในสมัยราชวงศ์ถัง อักษรคำว่า ซื่อ 世 ตรงกับพระนามเดิมของฮ่องเต้ ถังไท่จง นั่นคือ หลี่ซื่อหมิน 李世民 จึงได้เลี่ยงมาเรียกเป็น กวนอิน观音 หรือกวนอิมในภาษาจีนแต้จิ๋ว

ตำนานองค์หญิงเมี่ยวซ่าน

ในตำนานจีนมีตำนานกล่าวถึงพระธิดาเมี่ยวซ่าน ธิดาองค์ที่ 3 ของพระเจ้าเมี่ยวจวง ซึ่งบำเพ็ญภาวนาจนสำเร็จมรรคผลเป็นเจ้าแม่กวนอิมในภาคสตรี โดยมีเรื่องเล่าขานกันมาตั้งแต่ราชวงศ์ซ่งเหนือ (เป่ยซ่ง) ว่า

พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ (พระกวนอิมโพธิสัตว์) ในชาติสุดท้ายนั้น มีพระนามเดิมว่า เจ้าหญิงเมี่ยวซ่าน ทรงจุติเป็นพระราชธิดาองค์ที่ 3 ของพระเจ้าเมี่ยวจวง หรือเมี่ยวจวงหวัง (妙庄王)กษัตริย์ผู้โหดร้ายทารุณ ต่อไพรฟ้า ข้าแผ่นดิน พระองค์ทรงมีพระราชธิดาสามพระองค์ได้แก่ เจ้าหญิงเมี่ยวอิน (妙因公主)เจ้าหญิงเมี่ยวเอวี๋ยน (妙缘公主)และเจ้าหญิงเมี่ยวซ่าน (妙善公主)

เมื่อพระราชธิดาทั้ง 3 เจริญพระชันษาพร้อมที่จะออกเรือน องค์หญิงเมี่ยวอินและองค์หญิงเมี่ยวเอวี๋ยนต่างปรารถนาที่จะเข้าสู่พิธีวิวาห์ คงมีแต่องค์หญิงเมี่ยวซ่านที่ไม่พึงปรารถนาในสิ่งใด ๆ นอกเหนือไปจากพระเมตตาที่ทรงการุณย์ช่วยเหลือสรรพสัตว์ ทรงถือศีลกินเจ และเรียนรู้ในหลักธรรมของพระพุทธศาสนา ทำให้พระราชบิดาโกรธที่ขัดพระทัย จึงลงโทษทรมานพระธิดาเมี่ยวซ่าน นานัปการ จงถึงขั้นสั่งประหารชีวิต แต่ก็ไม่อาจกระทำสิ่งใดพระธิดาเมี่ยวซ่านได้

ต่อมา เจ้าหญิงเมี่ยวซ่าน ได้ถวายตนเป็นพุทธมามกะและทรงหนีออกจากวังเพื่อออกบวช จากนั้นจึงได้มุ่งมั่นประกอบคุณงามความดีและบำเพ็ญศีลภาวนา

ในเวลาต่อมา พระเจ้าเมี่ยวจวง ต้องประสบเคราะห์กรรมที่ได้ทรงกระทำไว้ ทำให้ทรงป่วยด้วยโรคร้ายแรงที่ไม่มีตัวยาใดรักษาได้ นอกจากพระโอสถที่ต้องปรุงจากดวงตาและแขนของผู้ที่เป็นทายาทเท่านั้น ซึ่งพระธิดาทั้ง 2 พระองค์ไม่มีผู้ใดยินยอมกระทำเช่นนั้น เมื่อข่าวนี้ล่วงรู้ถึงเจ้าหญิงเมี่ยวซ่าน พระองค์จึงกลับเข้าวัง และทรงยอมสละดวงตาและแขนเป็นพระโอสถรักษาพระบิดา จนกระทั้งพระเจ้าเมี่ยวจวง ฟื้นคืนเป็นปกติ

กล่าวกันว่า ความกตัญญูของเจ้าหญิงเมี่ยวซ่าน สร้างความตื้นตันให้แก่โลกมนุษย์และสรวงสวรรค์ เมื่อพระองค์ทรงบรรลุมรรคผลเป็นพระโพธิสัตว์กวนอิม พระพุทธองค์จึงประธานคืนดวงตาพันดวง และแขนพันข้างแก่พระองค์ อันเป็นที่มาของปางเจ้าแม่กวนอิมพันกรพันเนตร 千手千眼观音

วันสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเจ้าแม่กวนอิม

ตามปฏิทินจันทรคติจีน ในหนึ่งปีจะมีวันสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเจ้าแม่กวนอิม 3 วัน คือ 
วันที่ 19 เดือน 2 วันคล้ายวันประสูติ 
วันที่ 19 เดือน 6 วันคล้ายวันสำเร็จมรรคผล
วันที่ 19 เดือน 9 วันคล้ายออกบวช

บทสรรเสริญพระคุณ

นะโมกวงซิอิม ผ่อสัก นำโมไต๋ชื้อ ไต๋ปุย กิวโคว่ กิวหลั่ง กวงไต๋เล่งก้ำ กวงสี่อิมผู่สัก (กราบ)

นำโมไต๋ชื้อ ไต๋ปุย กิวโคว่ กิวหลั่ง กวงไต๋เล่งก้ำ กวงสี่อิมผู่สัก (กราบ)

นำโมไต๋ชื้อ ไต๋ปุย กิวโคว่ กิวหลั่ง กวงไต๋เล่งก้ำ กวงสี่อิมผู่สัก (กราบ)

นำโมฮู๊ก นำโมหวบ นำโมเจ็ง นำโมกิวโคว่ กิวหลั่ง กวงสี่อิมผู่สัก ทั่งจี้โต
โอม เกียล้อฮวดโต เกียล้อฮวดโต เกียออฮวดโต ล้อเกียฮวดโต ล้อเกียฮวดโต
ซาผ่อออ เทียงล้อซิ้ง ตี่ล้อซิ้ง นั้งลี่หลั่ง หลั่งลี่ซิ้ง เจ็กเฉียก ใจเอียงห่วยอุ่ยติ้ง
นำโมม่อออปวกเยี่ยปอล้อบิ๊ก

มหากรุณาธารณีสูตร 大悲咒

มหากรุณาธารณีสูตร (ที่มา) ในภาษาจีนเรียกว่า ไต่ปุ่ยจิ่ว 大悲咒 เเปลว่า พระมหากรุณาอันยิ่งใหญ่ เป็นมนตร์อันเกิดจากความเมตตากรุณาอันยิ่งใหญ่ของพระอวโลกิเตศวร ที่มีต่อสรรพสัตว์ที่ตกทุกข์ในโลก มีต้นกำเนิดจากพระสูตรมหายานภาษาสันสกฤตของอินเดีย พระภควธรรมเถระชาวอินเดียนำเข้าไปแปลในประเทศจีนสมัยราชวงศ์ถัง

เนื้อหาของพระสูตรกล่าวถึง เมื่อครั้งที่พระศากยมุนีสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ โปตาลกะบรรพต ในกาลนั้น พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ได้ขอพุทธานุญาตแสดงมนตร์อันศักดิ์สิทธิ์ไว้ เพื่อเป็นที่พึ่งแก่สรรพสัตว์

ย้อนไปในครั้งกาลสมัยของพระพุทธเจ้านามว่าพระสหัสประภาศานติสถิตยตถาคต พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นได้ตรัสมนตร์นี้แก่พระอวโลกิเตศวร และตรัสว่า “สาธุ บุรุษ เมื่อเธอได้มนตร์นี้ จงสร้างประโยชน์สุข แก่สัตว์ทั้งหลายในกษายกัลป์แห่งอนาคตกาลโดยทั่วถึง”

ตามเนื้อความของพระสูตรได้กล่าวว่า

ในขณะนั้น เมื่อพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ได้สดับมนตร์นี้แล้ว ก็ได้บรรลุถึงภูมิที่ 8 แห่งพระโพธิสัตว์เจ้า จึงได้ตั้งปณิธานว่า “ในอนาคตกาล หากข้าพเจ้าสามารถยังประโยชน์สุขแก่สรรพสัตว์ได้ ขอให้ข้าพเจ้ามีพันเนตรพันหัตถ์ในบัดดล”

เมื่อท่านตั้งปณิธานดังนี้แล้ว พลันก็บังเกิดมีพันหัสถ์พันเนตรขึ้นทันที และเพลานั้นพื้นมหาพสุธาดลทั่วทศทิศก็ไหวสะเทือนเลื่อนลั่น พระพุทธเจ้าทั้งปวงในทศทิศก็เปล่งแสงโอภาสเรืองรองมาต้องวรกายแห่งพระโพธิสัตว์ และฉายรัศมีไปยังโลกธาตุต่าง ๆ อย่างปราศจากขอบเขต

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสแก่พระอานนท์ว่า เนื่องจากปณิธานอันยิ่งใหญ่ของพระโพธิสัตว์ หากเหล่ามนุษย์และทวยเทพตั้งจิตสวดมนตร์นี้ ก็จะดับมหันตโทษจำนวนร้อยพันหมื่นล้านกัลป์ได้

หากเหล่ามนุษย์ทวยเทพสวดคาถานี้ เมื่อใกล้ชีวิตดับ พระพุทธเจ้าทั้ง 10 ทิศจะยื่นพระกรมารับให้ไปอุบัติในพุทธเกษตรทุกแห่ง

ติดตามเรื่องเล่าจีนได้ที่ ช่อง Chinatalks และ Fanpage Chinatalks