หอสักการะฟ้า เทียนถาน

หอสักการะฟ้า เทียนถาน 天坛 เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม สถานที่ท่องเที่ยวระดับ 5A ของจีน

เทียนถาน ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของกรุงปักกิ่ง มีพื้นที่ประมาณ 2.73 ล้านตารางเมตร เริ่มสร้างในสมัยราชวงศ์หมิง เมื่อปี1420

เทียนถานเป็นสถานที่บวงสรวงสวรรค์ ขอให้เก็บเกี่ยวพืชผลได้อุดมสมบูรณ์ และฝนตกต้องตามฤดูกาล ของจักรพรรดิราชวงศ์หมิงและชิง

โดยในกรุงปักกิ่งมีหอบูชาที่สำคัญคื หอสักการะฟ้า หอสักการะดิน หอสักการะอาทิตย์ และหอสักการะจันทร์

สิ่งก่อสร้างสำคัญในเทียนถาน ได้แก่ ตำหนักฉีเหนียนเตี้ยน ตำหนักหวงฉงหยี่ และแท่นสักการะหยวนชิวถาน

ตำหนักฉีเหนียนเตี้ยน เป็นสิ่งก่อสร้างที่สำคัญที่สุดของเทียนถาน

หลังคาของตำหนักฉีเหนียนเตี้ยน เป็นทรงกลมหมายถึง ท้องฟ้าที่โค้ง กระเบื้องเป็นสีน้ำเงิน เป็นสัญลักษณ์ของฟ้า ส่วนภายในมีลักษณะพิเศษ คือ สร้างเป็นอาคารไม้ทรงกระบอกสูง 40 เมตร ซ้อนกันขึ้นไป 3 ชั้น มีเสารองรับน้ำหนักทั้งหมดรวม 28 ต้น

เสาวงชั้นในสุด เป็นเสาหลักมีขนาดใหญ่ 4 ต้น เรียกว่า “เสาหลงจิ่ง” แปลว่าเสาบ่อมังกร เป็นตัวแทนหมายถึงแต่ละปีมี 4 ฤดูกาล

ถัดออกมาวงกลาง มีเสาอีก 12 ต้น เรียกว่า “เสาจิน” แปลว่าเสาทอง หมายถึงแต่ละปีมี 12 เดือน

ส่วนวงชั้นนอกสุดมีเสาอีก 12 ต้น เรียกว่า “เสาเหยียน” แปลว่าเสาชายคาบ้าน แทนความหมายของ 12 ยามในหนึ่งวันตามหน่วยการนับเวลาแบบโบราณของจีน

ซึ่งเสา 2 วงนอกที่มีจำนวนรวมกัน 24 ต้นนี้ แทนความหมายถึงการแบ่งเป็น 24 ฤดูกาลตามจันทรคติของจีนอีกด้วย

โดยจำนวนเสารวมทั้งหมด 28 ต้น ยังแฝงความหมายถึง 28 ราศีตามดาราศาสตร์ของจีนในสมัยโบราณด้วย

ตำหนักหวงฉงหยี่ว์ หรือ ตำหนักเทพสถิต สร้างขึ้นเมื่อค.ศ. 1530 สมัยเจียจิ้งของราชวงศ์หมิง มีการปรับปรุงขยับขยายให้ดูยิ่งใหญ่ขึ้นในสมัยเฉียนหลงของราชวงศ์ชิงเมื่อค.ศ. 1749 ใช้เป็นสถานที่ที่จักรพรรดิประกอบพิธีบวงสรวงสักการะสวรรค์ในวันตงจื้อหรือวันเข้าสู่ฤดูหนาว

ตำหนักแห่งนี้เป็นที่วางป้ายบูชาเทพเจ้าต่าง ๆ ที่ใช้ในการสักการะบวงสรวงฟ้าหรือสวรรค์ เช่น เทพเจ้าฟ้า ดิน พระอาทิตย์ พระจันทร์ และเทพเจ้าอื่น ๆ นอกจากนี้ ยังมีป้ายบรรพบุรุษ 8 ชั่วรุ่นของจักรพรรดิ เพื่อใช้ในพิธีบวงสรวงของฮ่องเต้

บริเวณรอบตำหนักหวงฉงหยี่ว์ ล้อมรอบด้วยกำแพงทรงกลม ซึ่งเป็นกำแพงสะท้อนเสียง ไม่ว่ายืนอยู่ตรงไหน หันหน้าต่อกำแพง และออกเสียง คนอื่นก็สามารถได้ยินเสียงสะท้อนมาก

แท่นบวงสรวงฟ้าหรือหยวนชิวถาน

หยวนชิวถาน เป็นสถานที่ที่จักรพรรดิทรงนำขุนนางนับพันคนประกอบพิธีบวงสรวงสวรรค์ ในวันตงจื้อ หรือวันย่างเข้าฤดูหนาว

แท่นหยวนชิวถานสูง 5 เมตร แบ่งเป็น 3 ชั้น แต่ละชั้นมีบันได 9 ขั้น ล้อมรอบด้วยรั้วหินหยกขาว แกะสลักเป็นลวดลายเมฆและมังกร ที่น่าสนใจคือ ก้อนหินที่ปูเป็นพื้นแท่นบูชานี้ จะมีจำนวนทบเป็นเท่าตัวของเลข 9 เพราะชาวจีนถือว่าเลข 9 เป็นเลขใหญ่ที่สุด เป็นเลขแห่งฟ้า เช่น วงในใจกลางแท่นใช้หิน 9 ก้อนปู รอบที่ 2 ก็จะเป็น 18 ก้อน

ในสมัยราชวงศ์หมิงและชิง ก่อนจะประกอบพิธี จักรพรรดิจะต้องเสด็จไปถึงเทียนถานล่วงหน้า 3 วัน เสวยพระกระยาหารเจ และสรงน้ำหอม เพื่อสักการะบูชาสรรค์

ในวันสักการะแม้ต้องประกอบพิธีในหน้าหนาว แต่จักรพรรดิก็ต้องประทับกลางแจ้งตั้งแต่เช้าตรู่ เพื่อแสดงถึงความตั้งใจจริงที่มีต่อการกราบไหว้บูชาฟ้า และเพื่อให้ใกล้ชิดกับฟ้ามากที่สุด

ชีซิงสือ หรือกลุ่มหินดาวไถ

ตั้งอยู่บริเวณทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเทียนถาน โดยเป็นการจัดวางก้อนหินตามตำแหน่งของดาวไถ 7 ดวงในท้องฟ้า และถ้าสังเกตให้ดีทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของกลุ่มก้อนหิน 7 ก้อนนี้ จะยังมีก้อนหินก้อนเล็กอีก 1 ก้อน รวมเป็น 8 ก้อน 

เล่ากันว่า กลุ่มหินชีซิงสือ ถูกตั้งวางในเทียนถานเมื่อสมัยเจียชิ่งแห่งราชวงศ์หมิง หมายถึงยอดเขา 7 แห่งของภูเขาไท่ซาน ต่อมาภายหลังชาวแมนจูเข้าปกครองจีนแล้ว เพื่อแสดงว่า ชาวแมนจูเป็นส่วนหนึ่งของประชาชาติจีน จักรพรรดิเฉียนหลงทรงมีพระบรมราชโองการให้วางก้อนหินเล็กอีกก้อนหนึ่งในทางตะวันออกเฉียงเหนือ หมายถึงชาวฮั่นกับชาวแมนจูเป็นชาติเดียวกัน

เส้นทางตันปี้เฉียว

ตันปี้เฉียว เป็นทางเดินแนวเส้นแกนกลางของเทียนถาน ยาว 360 เมตร กว้าง 30 เมตร ถือเป็นทางเสด็จผ่านของจักรพรรดิขณะประกอบพิธีบวงสรวง

ที่จริงแล้ว ทางเดินตันปี้เฉียว ที่ปูด้วยอิฐและหินอ่อนนั้น แบ่งออกเป็น 3 ทาง โดยทางซ้ายสุดเป็นทางเดินสำหรับขุนนาง ทางขวาสุดเป็นทางเดินสำหรับจักรพรรดิ ส่วนทางตรงกลาง เป็นทางสำหรับเทวดา เวลาประกอบพิธีบวงสรวง ขุนนางนับพันคนจะติดตามจักรพรรดิ ออกเดินจากทางใต้สุดของตันปี้เฉียวที่สูงกว่าพื้น 1 เมตร ขึ้นสู่ทางเหนือที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในจุดเหนือสุด จะสูงถึง 4 เมตร ทำให้เกิดความรู้สึกว่า กำลังค่อยๆ เดินขึ้นสู่ท้องฟ้าหรือสวรรค์