ท้าวจตุโลกบาล ซื่อต้าจินกัง 四大金刚

ท้าวจตุโลกบาล หรือ ซื่อต้าจินกัง (四大金刚) บ้างเรียกว่า ท้าวจตุมหาราชา หรือ ซื่อต้าเทียนหวัง (四大天王) เป็นมหาเทพทั้งสี่ผู้พิทักษ์พระพุทธศาสนา ชาวบ้านมักนิยมเรียกกันว่า “เทพสี่ทิศ” เทพทั้งสี่จะสร้างเป็นประติมากรรมขนาดใหญ่ ประดิษฐานไว้ ณ บริเวณวิหารต้น โดยแยกประดิษฐานอยู่ทางด้านซ้ายและด้านขวา

ตามคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เชื่อกันว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมอบหมายให้ท้าวจตุโลกบาลเฝ้ารักษาบริเวณทางลาดไหล่เขา ซวีหมีซาน (须弥山) หรือเขาพระสุเมรุ ไม่เพียงแต่อภิบาลพระพุทธศาสนาเท่านั้นท้าวจตุโลกบาลยังพิทักษ์อาณาจักรหรือประเทศที่ธำรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา ตลอดจนคอยเฝ้าปกป้องรักษาผู้ตั้งมั่นอยู่ในศีลในธรรมให้ประสบความสำเร็จและมีความเจริญรุ่งเรือง ชาวจีนผู้นับถือพระพุทธศาสนาจะให้ความศรัทธาในมหาเทพทั้งสี่ยิ่งนัก และยามใดเมื่อตั้งจิตอธิษฐานขอพรจากท้าวจตุโลกบาลแล้ว เชื่อกันว่าคำอธิษฐานนั้นจะประสบความสำเร็จ เพราะเทพทั้งสี่ตั้งมั่นอยู่ ณ ทิศทั้งสี่รอบ ๆ ตัว ย่อมต้องคอยพิทักษ์ปกป้องและช่วยเหลือให้คำอธิษฐานนั้นกลายเป็นจริง

ในวัดวาอารามทั่วไป จะต้องประดิษฐานท้าวจตุโลกบาลไว้ ณ วิหารต้น ซึ่งเป็นวิหารแห่งแรกที่ทุกคนที่เข้าสู่บริเวณตัววัดจะต้องผ่านเป็นลำดับแรก ความหมายของท้าวจตุโลกบาลจึงเปรียบประหนึ่งการอารักขาคุ้มครองอาณาบริเวณตัววัดที่อยู่ด้านใน ให้มีความปลอดภัยจากภยันตรายทั้งปวง

ในมหาสุวรรณประภาสสูตร (พระสูตรแสงทอง) มีจารึกกล่าวไว้ถึงท้าวจตุโลกบาล อันประกอบด้วย

  1. ท้าวธตรฐมหาราช หรือ ฉือกว๋อเทียนหวาง(持国天王) ปกครองประจำตำแหน่งทิศตะวันออก คอยพิทักษ์ปกป้องประเทศ สัญลักษณ์ของท่านคือ เครื่องดนตรีผีผา
  2. ท้าววิรุฬหกมหาราช หรือ เจิงจ่างเทียนหวาง (增长天王) ปกครองประจำตำแหน่งทิศใต้ คอยพิทักษ์ปกป้องพระธรรม สัญลักษณ์ของท่านคือกระบี่วิเศษ
  3. ท้าววิรูปักษ์มหาราช หรือกว่างมู่เทียนหวาง (广目天王) ปกครองประจำตำแหน่งทิศตะวันตก คอยพิทักษ์ปกป้องประชาราษฏร์ สัญลักษณ์ของท่านคือ มังกรแดง
  4. ท้าวเวสสุวัณมหาราช(ท้าวกุเวรมหาราช) หรือ ตัวเหวินเทียนหวาง (多闻天王) ปกครองประจำตำแหน่งทิศเหนือ คอยพิทักษ์ปกป้องให้มั่งคั่งร่ำรวย สัญลักษณ์ของท่านคือร่มวิเศษ

การเรียงลำดับข้างต้น เป็นการเรียงตามอาวุโสของมหาเทพทั้งสี่ ในขณะเดียวกัน ชาวจีนยังมีธรรมเนียมพิเศษอีกอย่างหนึ่งก็คือ การประดิษฐานของมหาเทพทั้งสี่ให้เรียงกันเป็นวลีมงคล โดยเรียงจาก ท้าววิรุฬหกมหาราช, ท้าวธตรฐมหาราช, ท้าวเวสสุวัณมหาราช และท้าววิรูปักษ์มหาราช

  1. ท้าววิรุฬหกมหาราช แทนคำว่า เฟิง(风) เพราะในมือทรงถือกระบี่วิเศษสีเขียวอันแหลมคม หรือ ชิงเฟิงเป่าเจี้ยน(青锋宝剑) คำว่า เฟิง(锋) ออกเสียงเหมือนกับ เฟิง (风) ที่แปลว่า ลม
  2. ท้าวธตรฐมหาราช แทนคำว่า เถียว(调) เพราะในมือทรงถือเครื่องดนตรีจีนที่เรียกกันว่า ผีผา(琵琶) การดีดผีผาจะบังเกิดเสียงดนตรีเป็นท่วงทำนองต่าง ๆ ตรงกับคำว่า เถียว(调) ที่แปลว่า จังหวะทำนอง
  3. ท้าวเวสสุวัณมหาราช(ท้าวกุเวรมหาราช) แทนคำว่า อวี่(雨) เพราะในมือถือร่มวิเศษ หรือ หุ้นหยวนจูส่าน(混元珠伞) การใช้ร่มเป็นดั่งความหมายเมื่อยามฝนตก ในภาษาจีนนั้น อักษรคำว่า อวี่(雨) จึงแปลว่า ฝน
  4. ท้าววิรูปักษ์มหาราช แทนคำว่า ซุ่น(顺) เพราะในมือทรงถือไว้ด้วยตัวจิ้งจอกลาย หรือ หูเตียว(狐貂) ซึ่งในสมัยโบราณนั้น สัตว์ตัวนี้จะเรียกว่าตัวเซิ่น และคำว่า เซิ่น (蜃) ออกเสียงคล้ายกับคำว่า ซุ่น(顺) ที่แปลว่าราบรื่น

ดังนั้น เมื่อเรียงตามลำดับตามตัวอักษรแล้วนั้น ก็จะออกเสียงเป็น “วลีมงคล” ในคำว่า เฟิงเถียวอวี่ซุ่น(风调雨顺) ซึ่งหมายถึง สะดวกราบรื่นและสำเร็จดั่งใจหมาย เป็นคำมงคลที่ใช้อำนวยพรให้ประสบกับความสำเร็จในทุกเรื่องทุกประการ ด้วยเหตุนี้ เมื่อยามมอบของขวัญให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใด เพื่อขอให้ท่านผู้นั้นพบกับความสำเร็จและมีแต่ความราบรื่น จะต้องมอบประติมากรรมเครื่องเคลือบดินเผาท้าวจตุโลกบาลครบทั้งสี่องค์ดังกล่าว

ท้าวธตรฐมหาราช 持国天王

ท้าวธตรฐมหาราช หรือ ฉือกว๋อเทียนหวาง (持国天王) ปกครองประจำตำแหน่งทิศตะวันออก คอยพิทักษ์ปกป้องประเทศ สัญลักษณ์ของท่านคือ เครื่องดนตรีผีผา

ท้าวธตรฐมหาราช (Dhritarastra) หรือ ฉือกั๋วเทียนหวาง (持国天王) หมายถึง มหาราชาผู้พิทักษ์ปกป้องประเทศ นามเดิมของท่านคือ ตัวหลัวจา (多罗吒) หรือบ้างก็เรียกว่า หมอลี่โซ่ว (魔礼寿) กล่าวกันว่า ภายหลังจากที่ท้าวธตรฐมหาราชได้ปวารณาตัวเพื่อรับใช้พระพุทธศาสนาแล้วนั้น พระพุทธองค์ทรงมอบหมายให้ท่านมีหน้าที่ในการคุ้มครองอาณาจักรหรือดินแดนใด ๆ ที่นับถือในพระพุทธศาสนาให้มีแต่ความสงบสุขและร่มเย็น โดยท้าวธตรฐมหาราชได้ปกครองประจำตำแหน่งบูรพา(ทิศตะวันออก) ของเขาซวีหมีซาน(เขาพระสุเมรุ) บนผืนแผ่นดินแห่งทองคำ

ลักษณะของท้าวธตรฐมหาราชนั้น แต่งกายด้วยชุดนักรบสวมชุดเกราะดั่งแม่ทัพใหญ่ มีพระพักตร์สีขาว พระหัตถ์ทรงถือเครื่องดนตรีจีนชนิดหนึ่งที่คล้ายกับพิณสี่สาย เรียกกันว่า ผีผา ยามใดที่ดีดผีผาขึ้นมา เสียงดนตรีจะบังเกิดเป็นท่วงทำนองอันกึกก้อง สำหรับประเทศใดที่นับถือในพระพุทธศาสนา เสียงดนตรีนั้นจะมีความไพเราะ แต่สำหรับอาณาจักรใดที่คิดทำลายประเทศแห่งพระพุทธศาสนา เสียงดนตรีจะกลีบกลายมาเป็นลูกไฟดวงใหญ่จำนวนมากมายที่ตกลงมาจากฟากฟ้า ด้วยเหตุนี้ ท้าวธตรฐมหาราชจึงกลายมาเป็นสัญลักษณ์แห่งการควบคุมภูมิอากาศบนโลกมนุษย์

เสียงดนตรีของผีผาที่ดังเป็นท่วงทำนองอันไพเราะนั้น จึงตรงกับอักษรจีนว่า เถียว (调) ที่แปลว่า จังหวะทำนอง ดังนั้น ในอักษรมงคล เฟิงเถียวอวี่ซุ่น(风调雨顺) ซึ่งหมายถึง สะดวกราบรื่นและสำเร็จดั่งใจหมาย ตัวอักษร เถียว(调) ในที่นี้จึงหมายถึง ท้าวธตรฐมหาราช(ฉือกั๋วเทียนหวาง)

ตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับท้าวธตรฐมหาราช มีปรากฏในเทพนิยายอิงพงศาวดารเรื่อง เฟิงเสินเอี่ยนอี้ (พงศาวดารประกาศิตสวรรค์ตั้งเทพเจ้า) เล่าถึงพญาอสูรสี่พี่น้องที่เฝ้ารักษาด่านเจียเมิ่งกวน โดยมีอสูร “หมอลี่โซ่ว” เป็นพี่ใหญ่ ที่เป็นผู้นำพี่น้องอสูรทั้งสี่ในการทำสงคราม และมีผีผาเป็นอาวุธที่ใช้แผ่พลังคลื่นเสียงทำลายศัตรู ส่วนในตำนานเรื่องไซอิ๋วนั้น มีกล่าวถึงท้าวจตุโลกบาลว่าได้เข้าร่วมกับกองทัพสวรรค์เข้าล้อมจับกุมตัวซุนหงอคง(เห้งเจีย)

ท้าววิรุฬหกมหาราช 增长天王

ท้าววิรุฬหกมหาราช หรือ เจิงจ่างเทียนหวาง (增长天王) ปกครองประจำตำแหน่งทิศใต้ คอยพิทักษ์ปกป้องพระธรรม สัญลักษณ์ของท่านคือกระบี่วิเศษ

ท้าววิรุฬหกมหาราช(Virudhaka) หรือ เจิงจ่างเทียนหวาง (增长天王) หมายถึง มหาราชาผู้พิทักษ์ปกป้องพระธรรม นามเดิมของท่านคือ ผีหลิวหลี(批琉璃) หรือบ้างเรียกในชื่ออสูรว่า หมอลี่ชิง(魔礼青) ภายหลังจากที่ท้าววิรุฬหกมหาราชได้ปวารณาตัวเพื่อรับใช้พระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ได้ทรงหมายหน้าที่ให้ท่านมีหน้าที่ในการคุ้มครองพระธรรมคัมภีร์ของพระพุทธศาสนาให้ปลอดภัย รวมทั้งให้พระธรรมขจรไกลไปสู่ดินแดนต่าง ๆ อย่างกว้างไกล โดยท้าววิรุฬหกมหาราชได้ปกครองประจำตำแหน่งทักษิณ(ทิศใต้) ของเขาซวีหมีซาน (เขาพระสุเมรุ) บนผืนแผ่นดินแห่งกระจก

ลักษณะของท้าววิรุฬหกมหาราชนั้น แต่งกายด้วยชุดนักรบสวมชุดเกราะดั่งแม่ทัพใหญ่ มีพระพักตร์สีเขียวเข้ม(บ้างว่าเป็นสีน้ำเงิน) พระหัตถ์ทรงถือไว้ด้วยกระบี่วิเศษที่มีสีเขียวคราม เรียกกันว่า ชิงเฟิงเป่าเจี้ยน (青峰宝剑) กระบี่เล่มนี้มีความแหลมคมดั่งสิ่งวิเศษ ตัดฟันสิ่งใดล้วนขาดสบั้น บ้างก็กล่าวว่าท้าววุรุฬหกมหาราชมีมหามนตรา จึงสามารถใช้เวทมนต์ให้บังเกิดเป็นเปลวไฟที่มีพลังอำนาจอันร้ายแรง และกระบี่วิเศษของท่านนั้น ยามใดที่สะบัดออกก็จะบังเกิดเป็นลมพายุโหมกระหน่ำ

ดังนั้น ความแหลมคมของตัวกระบี่ชิงเฟิงเป่าเจี้ยนได้เป็นที่มาของความหมายประจำตัวท่าน เพราะคำว่า “เฟิง”(锋) ที่มาจากชื่อกระบี่ ออกเสียงเหมือนกับคำว่า “เฟิง”(风) ที่แปลว่า ลม อีกทั้งลักษณะของกระบี่เมื่อยามสะบัดออกจะบังเกิดเป็นลมพายุขนาดใหญ่ จึงมีความหมายว่า “เฟิง” (风) เช่นกัน ในอักษรมงคลคำว่า เฟิงเถียวอวี่ซุ่น (风调雨顺) ที่หมายถึง สะดวกราบรื่นและสำเร็จดั่งใจหมายนั้น อักษร “เฟิง”(风) ในที่นี้จึงหมายถึง ท้าววิรุฬหกมหาราช (เจิงจ่างเทียนหวาง)

ตำนานเกี่ยวกับท้าววิรุฬหกมหาราช มีปรากฏในเทพนิยายอิงพงศาวดารเรื่อง เฟิงเสินเอี่ยนอี้ (พงศาวดารประกาศิตสวรรค์ตั้งเทพเจ้า) และเรื่อง ไซอิ๋ว (บันทึกท่องตะวันตก)เช่นเดียวกับท้าวจตุโลกบาลองค์อื่น ๆ

ท้าววิรูปักษ์มหาราช 广目天王

ท้าววิรูปักษ์มหาราช หรือกว่างมู่เทียนหวาง (广目天王) ปกครองประจำตำแหน่งทิศตะวันตก คอยพิทักษ์ปกป้องประชาราษฏร์ สัญลักษณ์ของท่านคือ มังกรแดง

ท้าววิรูปักษ์มหาราช (Virupaksa) หรือกว่างมู่เทียนหวาง (广目天王)หมายถึง มหาราชาผู้พิทักษ์ปกป้องอาณาประชาราษฏร์ นามเดิมของท่านคือ ผีหลิวปอชา (毗留播叉) หรือบ้างเรียกในชื่ออสูรว่า หมอหลี่หง (魔礼红) ภายหลังจากที่ท้าววิรูปักษ์มหาราชได้ปวารณาตัวเพื่อรับใช้พระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ได้ทรงหมายหน้าที่ให้ท่านมีหน้าที่ในการสอดส่องดูแลอาณาประชาราษฏร์ให้ตั่งมั่นอยู่ในศีลธรรมอันดี ด้วยท่านเป็นผู้ที่มีดวงตาที่สาม จึงสามารถมองเห็นได้กว้างไกลนับพันลี้ และสามารถล่วงรู้การกระทำของมนุษย์โลกทุกรูปนาม โดยท้าววิรูปักษ์มหาราชได้ปกครองประจำตำแหน่งประจิม (ทิศตะวันตก) ของเขา ซวีหมีซาน (เขาสุเมรุ) บนผืนแผ่นดินแห่งเงินขาว

ลักษณะของท้าววิรูปักษ์มหาราชนั้น แต่งกายด้วยชุดนักรบสวมชุดเกราะดั่งแม่ทัพใหญ่ มีพระพักตร์สีแดง รอบ ๆ แขนเสื้อของพระกรข้างขวา จะมีมังกรสีแดงรัดพันอยู่โดยรอบ(บ้างมีการสร้างรูปเคารพของท่านให้เป็นงูสีแดงแทน) ส่วนพระกรข้างซ้ายจะยกชูขึ้นเสมอ ในฝ่าพระหัตถ์จะมีไข่มุก(อัญมณี) วิเศษที่ส่องประกายแวววาว (ความหมายของไข่มุกที่มีลักษณะทรงกลม ยังเปรียบแทนโลกมนุษย์เช่นกัน) กล่าวกันว่าด้วยเพราะท่านมีสายตากว้างไกล จึงล่วงรู้การกระทำของมนุษย์ว่า ผู้ใดบ้างที่ดูหมิ่นดูแคลนพระพุทธศาสนา มังกร(งู) สีแดง ที่เลื้อยอยู่บนพระกรจะพุ่งเข้าไปรัดพันและจับตัวผู้นั้นมาลงทัณฑ์ ต่อมามีผู้เห็นว่าลักษณะของมังกรหรืองูไม่น่าดู จึงเปลี่ยนมาเป็น “เชือกสีแดง” แทน

นอกจากนี้ ในบันทึกโบราณที่กล่าวถึงท้าววิรูปักษ์มหาราชจะจับตัวจิ้งจอกลายชนิดหนึ่งเอาไว้ เรียกว่าตัว “หูเตียว”(狐貂)และในภาษาโบราณสัตว์ตัวนี้จะเรียกว่า “เซิ่น”(蜃) ทำให้ในเวลาต่อมา อักษรตัว “เซิ่น” ถูกมองว่า มีเสียงคล้ายคลึงกับตัว “ซุ่น” (顺)ที่แปลว่า สะดวกราบรื่น จึงถูกนำมาใช้ผสมรวมกับคำอื่น ๆ จนกลายมาเป็นอักษรมงคลดังกล่าว

ดังนั้น อักษรมงคลคำว่า เฟิงเถียวอวี่ซุ่น (风调雨顺)ที่หมายถึง สะดวกราบรื่นและสำเร็จดั่งใจหมาย นั้น อักษร “ซุ่น” (顺)ในที่นี้ จึงหมายถึง ท้าววิรูปักษ์มหาราช (กว่างมู่เทียนหวาง)

ตำนานเกี่ยวกับท้าววิรูปักษ์มหาราช มีปรากฏในเทพนิยายอิงพงศาวดารเรื่อง เฟิงเสินเอี่ยนอี้ (พงศาวดารประกาศิตสวรรค์ตั้งเทพเจ้า) และเรื่อง ไซอิ๋ว (บันทึกท่องตะวันตก) เช่นเดียวกับท้าวจตุโลกบาลองค์อื่น ๆ

ท้าวเวสสุวัณมหาราช 多闻天王

ท้าวเวสสุวัณมหาราช (ท้าวกุเวรมหาราช) หรือ ตัวเหวินเทียนหวาง (多闻天王) ปกครองประจำตำแหน่งทิศเหนือ คอยพิทักษ์ปกป้องให้มั่งคั่งร่ำรวย สัญลักษณ์ของท่านคือร่มวิเศษ

ท้าวเวสสุวัณมหาราช (Vaisravana) หรือ ตัวเหวินเทียนหวัง (多闻天王) หมายถึง มหาราชาผู้คอยคุ้มครองให้มนุษย์มีวิถีชีวิตที่กินดีอยู่ดีและมีความมั่งมีมั่งคั่ง ทำให้ในกลุ่มท้าวจตุโลกบาลทั้งหมด ท้าวเวสสุวัณมหาราชจะมีผู้กราบไหว้บูชามากเป็นพิเศษ นานวันเข้า ท่านจึงกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของเทพเจ้าแห่งความร่ำรวยเรียกกันว่า “ท้าวกุเวรมหาราช” นามเดิมของท่านคือ ผีซาเหมิน (毗沙门) หรือบ้างเรียกในชื่ออสูรว่า หมอหลีไห่ (魔礼海) ภายหลังจากที่ท้าวเวสสุวัณมหาราชได้ปวารณาตัวเพื่อรับใช้พระพุทธศาสนาแล้วนั้น พระพุทธองค์ได้ทรงหมายหน้าที่ให้ท่านมีหน้าที่ในการช่วยเหลือมนุษย์ไม่ให้ประสบกับความยากลำบากและยากจน ดังนั้น จึงได้มอบให้ท่านช่วยเหลือในการประทานทรัพย์สินเงินทองให้แก่คนผู้นั้น แต่ทว่า ผู้ที่จะได้รับการช่วยเหลือให้พบกับความมั่งคั่งร่ำรวยนั้น จะต้องเป็นคนดีและตั้งมั่นในคุณธรรม โดยท้าวเวสสุวัณมหาราชได้ปกครองประจำตำแหน่งอุดร (ทิศเหนือ) ของเขาซวีหมีซาน(เขาพระสุเมรุ) บนผืนแผ่นดินแห่งแก้วผลึก              

ลักษณะของท้าวเวสสุวัณมหาราชนั้น แต่งกายด้วยชุดนักรบสวมชุดเกราะ ดั่งแม่ทัพใหญ่ มีพระพักตร์สีเขียว พระหัตถ์ขวาถือร่มวิเศษที่มีพลังอำนาจในการป้องกันพายุและเมฆฝน เมื่อใดที่กางร่มออก จะบังเกิดเป็นความมืดดำทมึนไปทั่วท้องฟ้า และทันทีที่หุบร่มเข้า ก็จะทำให้แผ่นดินไหวสะเทือนเลือนลั่น ในเทพจตุมหาราชานั้น ยกให้ท้าวเวสสุวัณมหาราชมีอิทธิฤทธิ์ที่น่ากลัวที่สุด                                 

ในภาคประทานพรนั้น ท้าวเวสสุวัณมหาราชจะถูกเรียกเป็น ท้าวกุเวรมหาราช ในพระหัตถ์ซ้ายจะถือตัวหนูเทพหรือพังพอนเอาไว้ กล่าวว่า น้ำลายของพังพอนตัวนี้เมื่อยามคายออก จะกลายมาเป็นเพชรนิลจินดามากมายที่จะให้แก่ผู้ประกอบแต่คุณงามความดีเหล่านั้น              

อนึ่ง บางครั้งลักษณะของท้าวเวสสุวัณมหาราช (ท้าวกุเวรมหาราช) จะเปลี่ยนมาให้ท่านอยู่ในลักษณะการอุ้มเจดีย์แทน (เจดีย์เป็นสัญลักษณ์แทนความหมายถึงโลก และบนยอดหลังคาเจดีย์จะเป็นสัญลักษณ์แทนสวรรค์) และด้วยการที่รูปลักษณะของท้าวเวสสุวัณจะมีร่มวิเศษอยู่ในพระหัตถ์เสมอ ทำให้การตีความหมายเกี่ยวกับท่านจึงกลายมาเป็นสัญลักษณ์แทนความหมายของ “ฝน” ที่ต้องใช้ร่มในยามฝนตก            

ดังนั้น อักษรมงคลคำว่า เฟิงเถียวอวี่ซุ่น (风调雨顺) ที่หมายถึงสะดวกราบรื่นและสำเร็จดั่งใจหมายนั้น อักษร “อวี่”(雨)ที่แปลว่า ฝน ในที่นี้ จึงหมายถึง ท้าวเวสสุวัณมหาราช หรือ ท้าวกุเวรมหาราช หรือ ตัวเหวินเทียนหวาง

อ้างอิงจาก : หนังสือ 108 สิ่งมิ่งมงคลจีน – ปิยะแสง จันทรวงศไพศาล
รูป : wikipedia/baidu