หรูอี้ 如意 สัญลักษณ์แห่งสิริมงคล

หรูอี้ 如意 หรือหยู่อี่ ในภาษาจีนแต้จิ๋ว เป็นสัญลักษณ์แห่งสิริมงคลอย่างหนึ่งของจีน

คำว่า หรู 如 หมายถึง เหมือน เป็นดังเช่น ส่วนคำว่า อี้ 意 หมายถึง ความคิด ความปรารถนา หรูอี้ 如意 จึงหมายถึง สมดังปรารถนา เป็นไปได้ดั่งความคิด

คนไทยมักได้คุ้ยเคยหรือได้ยินคำว่า หรูอี้ หรือ หยู่อี่ ในช่วงเทศกาลตรุษจีน เนื่องจากเป็นคำที่นิยมใช้ในการอวยพร เช่น

ซินเจียหรูอี้ ซินเหนียนฟาไฉ 新家如意 新年发财 ขึ้นบ้านใหม่สมปรารถนา ปีใหม่ขอให้ร่ำรวย

เหนียนเหนียนหรูอี้ 年年如意 สมความปรารถนาทุกปี

ว่านสื่อหรูอี้ 万事如意 ทุกเรื่องสมปรารถนา

จี๋เสียงหรูอี้ 吉祥如意 มงคลโชคลาภ สมความปรารถนา

ประวัติของหรูอี้

รากศัพท์ของหรูอี้ มาจากภาษาสันสกฤตว่า อานั่วหลี้ 阿娜律 เป็นเครื่องใช้ในศาสนาพุทธฝ่ายมหายาน ทำจากไม้ไผ่ ทองเหลือง หรือหยก เวลาพระสงฆ์สวดมนต์ภาวนาท่องคัมภีร์ ก็จะใช้ หรูอี้ ในพิธีกรรม

ต่อมา หรูอี้ ได้ถูกดัดแปลงให้มีลักษณะคล้ายไม้เท้าขนาดเล็ก มีส่วนหัวงอโค้งเป็นวง

นานวันเข้า ตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิงเป็นต้นมา หรูอี้ก็ค่อยๆ มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบและลักษณะ มีการดัดแปลงให้ส่วนบนกลายมาเป็นรูปเห็ดหลินจือ หรือลายก้อนเมฆมีลำตัวอ่อนโค้งและมีการแกะสลักลวดลายเพิ่มเติมลงไป

ในสมัยราชวงศ์ชิง ในบันทึก ชิงเฉาเย่สื่อต้ากวน 清朝野史大观 บทที่ว่าด้วยหรูอี้ กล่าวไว้ว่า

หรูอี้ เป็นเครื่องใช้ชนิดหนึ่งที่มีมานานตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถังและราชวงศ์ซ่ง

ในสมัยโบราณนั้น เวลาขุนนางจะเข้าเฝ้าฮ่องเต้ก็จะประคองถือหรูอี้ไว้ข้างลำตัว เพื่อเป็นสัญลักษณ์มงคลเสมือนหนึ่งเป็นการถวายพระพรแด่องค์พระจักรพรรดิ

ในสมัยราชวงศ์ชิง หรูอี้ที่มีอยู่วังหลวงได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์สิริมงคล

ตั้งแต่ สมัยคังซีฮ่องเต้ เป็นต้นมา เมื่อฮ่องเต้คัดเลือกพระสนม หากทรงโปรดเลือกผู้ใด ก็จะพระราชทานหรูอี้ให้แก่นาง

นอกจากนี้ หรูอี้ยังได้กลายเป็นของพระราชทานปูนบำเหน็จรางวัลให้แก่ขุนนางที่ประกอบความดีความชอบแก่บ้านเมือง

ในห้องบรรทมของฮ่องเต้สมัยราชวงศ์ชิง ก็จะประดับตั้งหรูอี้ไว้เพื่อเป็นสิริมงคลว่าจะทรงสมความปรารถนาในทุก ๆ ประการ

ด้วยเหตุนี้ หรูอี้จึงได้กลายมาเป็นสิ่งล้ำค่า มีฐานะเป็นของสูง เป็นที่เทิดทูนบูชามาในทุกยุคทุกสมัย

ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือนทั่วไปหรือบริษัทร้านค้า ก็จะนิยมประดับตั้งหรูอี้ เพื่อเป็นสัญลักษณื แห่งความสุขสมหวัง ทุกเรื่องราวสำเร็จสมดั่งในปรารถนา และได้กลายมาเป็นของมงคลที่นิยมใช้สำหรับการอวยพรในทุก ๆ โอกาส

ติดตามเรื่องเล่าจีนได้ที่ ช่อง Chinatalks และ Fanpage Chinatalks