หนังสือพระราชนิพนธ์ กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเอาพระทัยใส่ในเรื่องประเทศจีน ภาษาจีนและวัฒนธรรมจีน อีกทั้งยังทรง เสด็จฯ เยือนประเทศสาธารณัฐประชาชนจีนหลายครั้ง

พระปรีชาสามารถด้านภาษาจีน

จากพระราชกระแสในสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อ พ.ศ. 2523 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีจึงทรงตัดสินพระทัยศึกษาภาษาจีนแทนภาษาเยอรมัน โดยทรงมีพระอาจารย์ภาษาจีนคนแรก คือ ศาสตราจารย์จังเยี่ยนชิว แห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ท่านเชี่ยวชาญทั้งภาษาจีนและภาษาอังกฤษ

อาจารย์จังเยี่ยนชิวเน้นการฝึกฝนการออกเสียงก่อนสอนให้รู้จักตัวอักษรจีน ดังนั้นเมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงศึกษาภาษาจีนได้เกือบหนึ่งปี จึงได้เสด็จ ฯ เยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม 2524 ทรงรู้ภาษาจีนพอสมควร

เมื่อเสด็จ ฯ กลับมา ทรงศึกษาภาษาจีนกับพระอาจารย์คนใหม่ คือ จี้หนานเซิง ผู้ซึ่งถวายพระอักษรภาษาจีนโดยให้ทรงแปลบทกวีนิพนธ์จีนและถวายความรู้เรื่องจิตรกรรมจีน

พระอาจารย์คนที่สาม คือ อาจารย์ฟู่อู่อี้ ซึ่งได้ถวายการสอนการอ่านทำนองเสนาะบทกวีจีน ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2523-2547 ทรงมีพระอาจารย์สอนภาษาจีนรวม 11 คน

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชปรารภว่า “ภาษาจีนนี่ยาก” เพราะทรงศึกษาเมื่อพระชนมายุ 26 พรรษาแล้ว และมีพระราชภารกิจมากทำให้ทรงศึกษาไม่ต่อเนื่อง และยังทรงเรียนบ้างหยุดบ้าง ทรงศึกษาภาษาจีนเพียงสัปดาห์ละหนึ่งวัน คือ วันเสาร์ (เวลา 09.00-12.00 น.) เมื่อทรงศึกษาได้ไม่ต่อเนื่อง

พระอาจารย์คนที่ห้า คือ หวังเยี่ย คิดวิธีเรียนทางไกล โดยถวายบทเรียนที่จะสอน เขียนคำศัพท์ การอ่านออกเสียง พร้อมทำคำอธิบายประกอบ แล้วให้ทรงทำการบ้านส่งให้พระอาจารย์ตรวจ

ระหว่าง พ.ศ. 2525-2532 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเรียนและโปรดกวีนิพนธ์จีนมาก ทรงเล่าพระราชทานถึงวิธีเรียนบทกวีไว้ในคำนำของหนังสือบทพระราชนิพนธ์แปล เรื่อง หยกใสร่ายคำ ว่า

“ทรงศึกษาสัปดาห์ละบทหรือ 2 บท พระอาจารย์จะเล่าประวัติกวี เหตุการณ์สมัยนั้น อธิบายสาระของบทกวี คำยาก ให้ทรงหัดอ่านและทรงแปล”

พระราชนิพนธ์แปลบทกวีจีน หยกใสร่ายคำ ได้ถูกจัดพิมพ์เผยแพร่ในเดือนกรกฎาคม 2541 หลังจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพิจารณาตรวจชำระบทกวีจีน 34 บทที่ทรงแปลไว้

เมื่อทรงพักการศึกษาร้อยกรองและการแปลบทกวีจีน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงศึกษาภาษาจีนเป็นร้อยแก้ว และทรงแปลนวนิยายจีน 2 เรื่อง เรื่องแรกคือเรื่อง ผีเสื้อ ซึ่งทรงแปลจากนวนิยายเรื่อง หูเตี๋ย ของหวังเหมิง อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของสังคมจีน ช่วง พ.ศ. 2492-2522 เรื่องหูเตี๋ยนี้ พระอาจารย์หวังเยี่ยสอนให้ทรงอ่านและทรงแปล

พระอาจารย์คนต่อมาคืออาจารย์กู้หยาจ่ง ซึ่งมีความรู้ภาษาไทย ได้ตรวจสอบฉบับแปลภาษาไทยให้

เรื่องที่สอง คือ เมฆเหิน น้ำไหล ทรงแปลจากเรื่อง สิงอวิ๋นหลิวสุ่ย ของฟังฟัง นักเขียนสตรีรุ่นใหม่ในกลุ่มแนวหน้า ซึ่งสะท้อนภาพสังคมจีนที่เปลี่ยนแปลงไปในทางวัตถุมากขึ้นหลังยุคการเปิดประเทศจีนและใช้นโยบายสี่ทันสมัย

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี รับสั่งกับผู้ใกล้ชิดว่า จะศึกษาประวัติศาสตร์หรือค้นคว้าเรื่องของประเทศใดก็ตาม ควรจะรู้ภาษาของชาตินั้นด้วย ดังนั้นเมื่อทรงรู้ภาษาจีน จึงเสด็จ ฯ เยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนหลายครั้ง เพราะแต่ละครั้งที่เสด็จ ฯ ไป ก็ทรงได้รับความรู้เพิ่มเติม จึงมีพระราชประสงค์ที่จะเสด็จ ฯ ไปในที่ที่ไม่เคยไปเพราะสาธารณรัฐประชาชนจีนกว้างใหญ่ไพศาล แต่ละสถานที่แตกต่างกันทั้งภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม

ด้วยพระปรีชาสามารถด้านภาษาจีน ความสนพระทัยในจีนคดีศึกษา พระราชนิพนธ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับจีน พระราชนิพนธ์ที่แปลเป็นภาษาจีน และความเป็นนักวิชาการใฝ่ศึกษาค้นคว้า กระทรวงศึกษาธิการจีน จึงได้ทูลเกล้า ฯ ถวายรางวัลมิตรภาพภาษาและวัฒนธรรมจีน (The Chinese Language and Cultural Friendship Award) เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2543 แด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นพระองค์แรก

ขณะเดียวกันชาวจีนเรียกขานพระองค์ว่า ซือหลินทงกงจู่ (ซือ แปลว่าบทกวี หลิน แปลว่าหยกสวยงาม ทง แปลว่าปราดเปรื่อง กงจู่ แปลว่าเจ้าหญิง)

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จ ฯ ไปทรงเป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ในระหว่างวันที่ 14 กุมภาพันธ์ – 15 มีนาคม 2548 ในการนี้ กระทรวงศึกษาจีนรับภาระค่าใช้จ่าย ที่พัก ค่าเล่าเรียนและอาหารการกินในมหาวิทยาลัยปักกิ่ง มหาวิทยาลัยจัดตารางสอนตามพระราชประสงค์ กล่าวคือ สอนภาษาจีนในเรื่องการอ่าน การเขียน การพูด การรำมวยจีนไทเก็ก การเขียนภาพจีน การเขียนตัวหนังสือ การสีซอเอ้อร์หู การเขียนพู่กันจีน ซึ่งทำให้ทรงรู้จักรัตนะทั้ง 4 ในห้องหนังสือ อันประกอบด้วยพู่กัน แท่นฝนหมึก แท่นหมึก และกระดาษ

ในเดือนสิงหาคม 2544 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จ ฯ เยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน (ทิเบต ชิงไห่ หนิงเซี่ย) ในการนี้ มูลนิธิวรรณกรรมแห่งชาติจีนและสมาคมนักเขียนแห่งประเทศจีนได้ทูลเกล้า ฯ ถวายรางวัลวรรณกรรมเพื่อความเข้าใจและมิตรภาพระหว่างประเทศ ณ มหาศาลาประชาชนจีน กรุงปักกิ่ง ในวันที่ 24 สิงหาคม 2544

มูลนิธิวรรณกรรมแห่งชาติจีนจัดตั้งรางวัลดังกล่าว เพื่อมอบให้บุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางด้านวัฒนธรรมระหว่างจีนกับต่างประเทศ เผยแพร่วัฒนธรรมของประชาชาติจีน ส่งเสริมความเข้าใจอันดีของประชาคมโลกที่มีต่อจีน และกระชับความร่วมมือและมิตรภาพระหว่างประเทศ

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นมิตรชาวจีนคนที่สามที่ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลวรรณกรรมเพื่อความเข้าใจและมิตรภาพระหว่างประเทศ

หนังสือพระราชนิพนธ์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ

หนังสือพระราชนิพนธ์
ชุดเสด็จพระราชดำเนินเยือน
สาธารณรัฐประชาชนจีน

ย่ำแดนมังกร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2524

เมื่อข้าพเจ้าย่ำแดนมังกร > (opens in a new tab)”>ซื้อหนังสือ>>

เนื้อหาโดยสังเขป ซื้อหนังสือ>>

“เมื่อข้าพเจ้าเขียนย่ำแดนมังกร” เป็นคำบรรยายพระราชนิพนธ์ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้ทรงบรรยายเรื่อง ย่ำแดนมังกร แก่นักศึกษาชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตฟังเมื่อปี พ.ศ. 2533 เนื้อหาสาระเปี่ยมด้วยข้อพินิจทรงคุณค่า และครอบคลุม อันทำให้ผู้ฟัง เข้าใจ และซาบซึ้งยิ่งสมเด็จพระเทพรัตน ฯ ทรงพระปรีชาสามารถด้านจีนวิทยาอย่างถ่องแท้ ในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศจีนแต่ละครั้ง ได้เสด็จทอดพระเนตรศิลปวัตถุที่จัดแสดงตามสถานที่สำคัญ รวมถึงวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของประเทศจีนในแง่มุมต่าง ๆ คำบรรยายที่ทรงแสดงในครั้งนั้น จึงไม่ได้มาจากการศึกษาเนื้อหาความรู้จากตำรับตำราทั่วไปหรือจากการได้เห็นได้ชมมามากอย่างหนึ่งอย่างใด หากแต่เป็นคำบรรยายของผู้ที่ทั้งได้ศึกษา ได้เห็นและมีประสบการณ์ความเข้าใจประเทศจีนอย่างแจ้งชัด

มุ่งไกลในรอยทราย
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2533

เนื้อหาโดยสังเขป

…เมื่อได้ไปยืนอยู่บนพื้นทะเลทราย ความรู้สึกหลายอย่างได้เกิดขึ้นในห้วงคิด อย่างหนึ่งคือความกว้างขวาง ความโดดเดี่ยว อิสรเสรี ซึ่งงดงามและมีความหมายท้าทายต่อชีวิตที่ก้าวไปข้างหน้าไกลแสนไกล อีกอย่างหนึ่งคือ ความประทับใจต่อบุคคลที่ไปมาอยู่ในพื้นที่แถบนี้ ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน อยากศึกษาว่าเขาอยู่กันอย่างไร ทำอย่างไร จึงต่อสู้ความยากลำบากนานาประการในทะเลทรายได้
“การเรียนรู้จักบุคคลต่างๆ สรรพวิทยาที่ได้พบให้เวลาเป็นพันเป็นหมื่นปีก็ยังไม่พอจะเรียนรู้ได้ทัน ชีวิตเราคงไม่ถึงร้อยปี ทุกๆ วันที่ผ่านมาก็มีความตื่นตาตื่นใจ ที่อยากไขว่คว้าแสวงหา ข้าพเจ้าจึงพยายามทำความเข้าใจกับเรื่องราวต่างๆ ที่ได้พบเห็น ได้ยินคำบอกเล่า อ่านจากหนังสือ ด้วยความจำกัดของสติปัญญาและเวลาจึงไม่สามารถค้นคว้าเพื่อสนองความอยากรู้ และเพื่อถ่ายทอดมาเป็นอักษรได้ทั้งหมด แต่ถ้าไม่เริ่มต้นตอนนี้ก็หมดโอกาสที่จะคุยกับท่านผู้อ่าน ดังนั้นถ้าข้าพเจ้าบกพร่องผิดพลาดก็ขอได้อภัย และโปรดได้แนะนำเหมือนอย่างที่เคยปฏิบัติมาโดยตลอด ขอขอบคุณทุกๆ ท่าน มิตรชาวจีนและไทยทั้งเก่าและใหม่ที่อำนวยโอกาสอันดีในการที่ข้าพเจ้า “มุ่งไกลในรอยทราย” ครั้งนี้…”

ข้างต้นเป็นข้อความตอนหนึ่งใน “คำนำ” ของพระราชนิพนธ์เรื่อง “มุ่งไกลในรอยทราย” พระราชนิพนธ์ลำดับที่ 11 ในชุดเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ และเป็นครั้งที่ 2 ของการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ทรงบันทึกไว้เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ ๗ เมษายน – 21 เมษายน 2533

ไอรัก คืออะไร
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2536

เนื้อหาโดยสังเขป

พระราชนิพนธ์ลำดับที่ 19 ในชุดเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ ที่ทรงบันทึกไว้เมื่อครั้งเสด็จ ฯ เยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศมองโกเลีย ระหว่างวันที่ 3-12 ตุลาคม 2535
ผู้อ่านจะได้ทราบข้อมูลและเกร็ดความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับประเทศมองโกเลีย และภาพถ่ายที่แสดงถึงลักษณะทางภูมิประเทศและสภาพทางธรรมชาติที่สวยงามแปลกตา ศิลปวัฒนธรรม และวิถีชีวิตที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของชาวมองโกเลีย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดประการหนึ่งคือที่มาของชื่อพระราชนิพนธ์ “ไอรัก คืออะไร?” ซึ่งเป็นชื่อของ “นมม้าหมัก” เครื่องดื่มประจำชาติของมองโกเลีย

เกล็ดหิมะในสายหมอก
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2537

เนื้อหาโดยสังเขป พระราชนิพนธ์ลำดับที่ 27 ที่ทรงบันทึกไว้เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 4-17 มกราคม พุทธศักราช 2537 ซึ่งในพระราชนิพนธ์กล่าวนำ ได้ทรงเล่าไว้ว่า
“ถึงแม้ข้าพเจ้าจะเคยเดินทางไปสาธารณรัฐประชาชนจีนหลายครั้ง แต่ครั้งที่ถือว่าเป็นการเดินทางเพื่อประโยชน์ในด้านจีนศึกษาอย่างแท้จริงนั้น ครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งที่สาม กล่าวคือ ในครั้งแรกเดินทางเพื่อทำความรู้จักกับประเทศจีนโดยรวมในพ.ศ. 2529 ครั้งที่สอง พ.ศ. 2533 เพื่อศึกษาภาคตะวันตกของจีน หรือที่รู้จักกันว่าเส้นทางแพรไหมในสมัยโบราณ ครั้งที่สามคือครั้งนี้ ตั้งใจไปศึกษาเรื่องภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนคือ มณฑลเหลียวหนิง จี๋หลิน และเฮยหลงเจียง ซึ่งเป็นดินแดนถิ่นกำเนิดของพวกแมนจู ภาษาจีนเรียกว่าพวกหม่านโจว ต่อมาได้รวมตัวกันตั้งราชวงศ์ชิง เข้าบุกปักกิ่งและใช้เป็นราชธานีต่อมาจนสิ้นราชวงศ์ ดินแดนตะวันออกเฉียงเหนือยังเป็นดินแดนสำคัญในประวัติการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในปัจจุบันก็มีบทบาทในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของจีน เนื่องจากมีทรัพยากรอยู่มาก เป็นแหล่งอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ทั้งยังมีทัศนียภาพที่งดงาม สภาพภูมิศาสตร์ที่น่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง …”
เกล็ดหิมะในสายหมอก จัดพิมพ์เป็นชุด ชุดหนึ่งมี 5 เล่ม ได้แก่
เล่ม 1 ปักกิ่ง
เล่ม 2 เหลียวหนิง
เล่ม 3 จี๋หลิน
เล่ม 4 เฮยหลงเจียง
เล่ม 5 ภาคผนวก

ใต้เมฆที่เมฆใต้
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2538

เนื้อหาโดยสังเขป “ใต้เมฆที่เมฆใต้” พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีนระหว่าง 27 กุมภาพันธ์ – 6 มีนาคม 2538 ในครั้งนี้เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลยูนนาน “ยูนนาน” มีความหมายว่า “เมฆใต้” มีประชากรหลากหลายเชื้อชาติอาศัยอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก อาทิ ชนชาติไป๋ต้าหลี่ ชนชาติไต่ ฯลฯ ได้ทอดพระเนตรสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ และเสด็จไปทรงเยี่ยมสถาบันทางวิชาการที่น่าสนใจอื่น ๆ อีกด้วย

เย็นสบายชายน้ำ ซื้อหนังสือซีเอ็ด>> <<ซื้อหนังสือ นายอินทร์ >>
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2540

เนื้อหาโดยสังเขป ซื้อหนังสือ>>

พระราชนิพนธ์ลำดับที่ 38 ในชุดเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ ทรงบันทึกไว้เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 14-27 เมษายน 2539 ซึ่งเป็นการเดินทางล่องแม่น้ำแยงซีเกียง หรือฉางเจียง ในพระราชนิพนธ์ “คำนำ” ทรงกล่าวถึงการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ว่า

“…หลายปีมาแล้วข้าพเจ้าได้ยินว่าจะมีการสร้างเขื่อนใหญ่ที่สุดในโลกกั้นแม่น้ำฉางเจียง ถ้าโครงการสำเร็จแล้วน้ำจะท่วมพื้นที่กว้างใหญ่ เมืองหรือสถานที่น่าสนใจหลายแห่งจะถูกน้ำท่วมหมด ถ้าอยากจะดูก็ต้องรีบดูในปีสองปีนี้
“โครงการสร้างเขื่อนซานเสีย ซึ่งข้าพเจ้าลองแปลเป็นไทยว่าโตรกเขาทั้งสามนี้ เป็นกรณีที่มีการโต้แย้งกันมาก ทั่วโลกว่ายังประโยชน์มหาศาลหรือก่อให้เกิดผลเสีย…
“ข้าพเจ้าไม่มีความรู้พอที่จะตัดสินว่าสุดท้ายควรทำหรือไม่ แต่ก็จะบันทึกความคิดต่างๆ ที่จะได้ยินได้ฟังต่อไปให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หวังว่าข้อมูลที่ข้าพเจ้าและคณะบันทึกในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์บ้าง…”

คืนถิ่นจีนใหญ่ << ซื้อหนังสือ ร้านนายอินทร์ >>
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2541

เนื้อหาโดยสังเขป พระราชนิพนธ์ลำดับที่ 41 ในชุดเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ และเป็นครั้งที่ 8 ของการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ทรงบันทึกไว้เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนและฮ่องกง ระหว่างวันที่ 25 มิถุนายน – 4 กรกฎาคม 2540 นอกจากจะเสด็จฯ เยือนสถานที่สำคัญต่างๆ ในมณฑลกวางตุ้งแล้ว ยังเสด็จฯ ไปทรงร่วมพิธีส่งมอบฮ่องกงคืนแก่จีน เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2540 อันถือเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของโลกด้วย

เจียงหนานแสนงาม << ซื้อหนังสือ e-book ร้านนายอินทร์ >>
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2543

พระราชนิพนธ์ลำดับที่ 42 ในชุดเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ ทรงบันทึกไว้เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 2 เมษายน – 14 เมษายน 2542 ทรงพระราชนิพนธ์ใน “คำนำ” เกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ ตอนหนึ่งว่า

“…คนไทยคุ้นเคยกับคำว่า เจียงหนาน หรือที่ภาษาจีนแต้จิ๋วออกเสียงว่า กังนั้ม และภาษาไทยออกเสียงเคลื่อนไปว่า กังหนำ เพราะมีภาพยนตร์เกี่ยวกับจักรพรรดิเฉียนหลงเสด็จประพาสเจียงหนานมาฉายหลายเรื่อง ภาพยนตร์จีนกำลังภายในที่ฉายกันทางโทรทัศน์ก็มีอยู่หลายเรื่องที่กล่าวถึงเจียงหนาน เรื่อง มังกรหยก ของกิมย้งก็เอาเจียงหนานมาเป็นฉากส่วนหนึ่งของเรื่อง มีผู้กล้าหาญทั้งเจ็ดแห่งกังหนำ อาจารย์ของก๊วยเจ๋งเป็นตัวละครในเรื่องด้วย เพลงในภาพยนตร์เรื่องจอมใจจักรพรรดิ หรือเจียงซานเหม่ยเหริน ก็ร้องบรรยายถึงเจียงหนานเช่นกัน จนคำว่า เจียงหนานเห่า หรือ เจียงหนานแสนงาม เป็นวลีที่ชาวจีนพูดกันติดปาก

“เจียงหนาน ที่กล่าวถึงในบทกวีของไป๋จวีอี้และที่ข้าพเจ้าไปท่องมานั้นอยู่ในพื้นที่ของมณฑลเจียงซูและมณฑลเจ้อเจียง ข้าพเจ้าไปเยือนจีนครั้งนี้ 13 วัน อยู่ที่ปักกิ่ง 4 วัน (2-5 เมษายน 2552) เจียงหนาน 7 วัน (6-12 เมษายน) และคุนหมิง 2 วัน (13-14 เมษายน) เมื่อกลับมาแล้ว ได้เขียนเรื่องที่ได้พบเห็น ได้ยินมา รวมทั้งที่ได้ตรวจสอบข้อมูลและค้นคว้าเพิ่มเติมเท่าที่จะหาได้มาเล่าให้ผู้อ่านฟัง จะได้ไปท่องโลกกว้างแสวงหาปัญญาร่วมกัน ไปท่องแดนเจียงหนานแสนงามว่า งามอะไร งามอย่างไร จนมีบทกวีมากมายของกวีหลายคนเขียนพรรณนาถึงเจียงหนาน…”

เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนอก <<ซื้อหนังสืร้านซีเอ็ด >> <<e-book ร้านนายอินทร์>>
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2544

เนื้อหาโดยสังเขป ซื้อหนังสือ>>

พระราชนิพนธ์ลำดับที่ 44 ในชุดเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ ทรงบันทึกไว้เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาภาษาจีน ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2544 – 15 มีนาคม 2544 ในพระราชนิพนธ์คำนำทรงเล่าถึงการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาในครั้งนี้ว่า

“ข้าพเจ้าเรียนภาษาจีนมา 20 ปีแล้ว แต่ความรู้ยังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่สถานทูตจีนจัดครูมาสอนเป็นประจำ จึงเกิดความคิดว่า ถ้าข้าพเจ้าได้มาอยู่ในแวดวงคนจีน เรียนภาษาจีนอย่างเดียวไม่ต้องทำงานอื่นสักพักหนึ่งน่าจะดีขึ้น ปัญหาอยู่ที่ว่าระยะหลังๆ นี้การงานที่เมืองไทยค่อนข้างมาก จะปลีกตัวมาได้นานสักเท่าไร เมื่อ ๓ ปีก่อนเคยไปสหรัฐอเมริกาเดือนหนึ่ง จึงคิดว่าน่าจะอยู่จีนได้เหมือนกัน ได้ไปลองปรึกษากับใครๆ ที่เมืองจีน ทั้งทางมหาวิทยาลัยและคนอื่น ทุกคนต่างเห็นดีด้วย ลองไปสืบราคาที่อยู่และค่าเล่าเรียนที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง รู้สึกว่าค่อนข้างแพง แต่ก็น่าจะสู้ราคาได้ ภายหลังท่านทูตฟู่เสวียจัง ทูตจีนประจำประเทศไทยในขณะนั้นบอกว่ากระทรวงศึกษาธิการจีนจะรับภาระค่าใช้จ่ายทุกๆ ด้าน ทั้งด้านที่พักในมหาวิทยาลัย การเล่าเรียน และอาหารการกิน

“มหาวิทยาลัยปักกิ่งจัดตารางสอนมาให้ ครั้งแรกหนักด้านเนื้อหามากเกินไป ข้าพเจ้าจึงแจ้งเขาว่าด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมจีนนั้น ข้าพเจ้าเรียนไปมากแล้วจากหนังสือภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ข้าพเจ้ายังอ่อนในด้านภาษาจีน ทั้งการพูด การฟัง และการเขียน เขาจึงจัดตารางเรียนให้ใหม่ มีครู ๒ คน ครูจังอิง สอนภาษาจีน-ไวยากรณ์การอ่าน ส่วนครูหวังรั่วเจียง สอนภาษาพูด นอกจากนั้นยังให้เรียนการรำมวยจีนไทเก๊ก เขียนภาพจีน เขียนตัวหนังสือ และสีซอเอ้อร์หูด้วย เขาจัดที่พักที่สบายให้ในมหาวิทยาลัย มีพร้อมทุกอย่าง (เป็นหอพักที่จัดสำหรับศาสตราจารย์ทรงคุณวุฒิ ชาวต่างประเทศ ที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งเชิญมาสอนหรือมาร่วมค้นคว้าวิจัย)”

หวงเหออู่อารยธรรม <<ซื้อหนังสือ นายอินทร์>>
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2544

เนื้อหาโดยสังเขป หวงเหออู่อารยธรรม พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่เสด็จฯเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 7-20 มีนาคม 2543 ทรงบันทึกไว้เป็นลักษณะจดหมายถึงพระสหายคุณประพจน์ (ผศ.ดร.ประพจน์ อัศววิรุฬหการ อดีต คณบดีคณะอักษรศาสตร์) ที่มิได้ตามเสด็จฯ เหมือนทุกครั้ง ด้วยติดงานวิจัยที่ Harvard ที่สหรัฐอเมริกา จดหมายทั้งหมดมี 14 ฉบับ ตามจำนวนวันที่ประทับอยู่ในประเทศจีน

ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย <<ซื้อหนังสือซีเอ็ด>>
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2548

เนื้อหาโดยสังเขป ซื้อหนังสือ>>

พระราชนิพนธ์ ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนใน 3 พื้นที่สำคัญคือ มณฑลชิงไห่ เขตปกครองตนเองหนิงเซี่ย เขตปกครองตนเองทิเบต มหานครปักกิ่ง และมณฑลเหอเป่ย ระหว่างวันที่ 13 ถึง 27 สิงหาคม 2544

นอกจากภูผา ป่าทราย และความเวิ้งว้างของธรรมชาติ ที่ให้ความรู้สึก โดดเดี่ยว ความเป็นอิสระ และความงามที่ท้าทายแล้ว พื้นที่ทั้ง 3 แห่งนี้ยังมีชนหลายชาติหลายวัฒนธรรมอาศัยอยู่ร่วมกัน ที่มณฑลชิงไห่ นอกจากชาวจีนแล้ว ยังมีชนกลุ่มน้อย เช่น ชาวทิเบต มองโกล หุย ถู่ ซาลาร์ คาซัค และอื่น ๆ ที่หนิงเซี่ย ชนชาติหุยอยู่รวมกับชาวจีน ชาวแมนจู มองโกล และทิเบต ส่วนที่ซีจั้งหรือทิเบตนั้นมีชาวทิเบตเป็นชนกลุ่มใหญ่ อยู่รวมกับชาวจีน หุย เหมินปา และโล่ปา พื้นที่ทั้ง 3 แห่งนี้ จึงเป็นดินแดนแห่งสีสันทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจยิ่ง

หนังสือพระราชนิพนธ์แปล

ผีเสื้อ 蝴蝶 > (opens in a new tab)”>ซื้อหนังสือ>>
ผลงานของหวังเหมิ่ง 王蒙
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2537

เนื้อหาโดยสังเขป ซื้อหนังสือ>>

ผีเสื้อ เป็นพระราชนิพนธ์ทรงแปลจากวรรณกรรมภาษาจีนของ หวางเหมิง หวางเหมิงเคยเป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการหนังสือวรรณกรรมประชาชน รองประธานสมาคมนักประพันธ์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม และกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน

เรื่องราวของผีเสื้อสะท้อนให้เห็นสภาพของสังคมในสาธารณรัฐประชาชนจีนในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม (พ.ศ. ๒๕๐๙ – ๒๕๑๒) ที่เต็มไปด้วยความสับสนและความขัดแย้งของผู้คนและอุดมการณ์ทางการเมือง ดังที่ได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ใน “นำเรื่อง” ว่า

“ผู้เขียนเรื่อง “ผีเสื้อ” พยายามแสดงให้เห็นว่า สังคมและมนุษย์มีความสลับซับซ้อน การปฏิวัติสังคมและการสร้างสรรค์สิ่งดีงามทั้งหลายเพื่อส่วนรวมนั้น จึงมิใช่จะสำเร็จผลได้เพียงเพราะมีความปรารถนา อุดมคติ หลักการ หรือทฤษฎีทางการเมืองเท่านั้น หากต้องใช้ปัญญาพินิจตนเอง พิจารณาสังคมอย่างละเอียดรอบด้าน จนสามารถเข้าใจตนเองและเข้าใจสังคมของตนอย่างถ่องแท้ ตรงกับความเป็นจริง จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาและสร้างสรรค์ประโยชน์อันแท้จริงได้สำเร็จ”

เก็จแก้วประกายกวี
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2538

เมฆเหินน้ำไหล 行云流水
ผลงานของฟังฟัง 方方
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2539

เนื้อหาโดยสังเขป

การพัฒนาประเทศตามนโยบายสี่ทันสมัย ที่เริ่มใน พ.ศ. 2521และดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันเป็นวรรณกรรมจีนร่วมสมัยที่สะท้อนภาพความเปลี่ยนแปลงของสังคมจีนปัจจุบัน ที่สืบเนื่องมาจากการพัฒนาประเทศตามนโยบายสี่ทันสมัย ที่เริ่มใน พ.ศ. 2521 และดำเนินต่อเนื่องมา…

หยกใสร่ายคำ (บทกวีจีน )
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2541

เพียงวันพบ วันนี้ที่สำคัญ > (opens in a new tab)”>ซื้อหนังสือ>>
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2548

เนื้อเรื่องโดยสังเขป ซื้อหนังสือ>>

เพียงวันพบ วันนี้ที่สำคัญ รวมพระราชนิพนธ์แปลในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สามเรื่องสามรสด้วยกัน ซึ่งล้วนแล้วแต่ให้สาระแนวคิดที่ดี ถึงแม้จะมีรูปแบบและวัฒนธรรมต่างกัน เป็นการพินิจความเสื่อมสลายทางจิตวิญญาณของสังคมสมัยใหม่ ที่มนุษย์ใช้วัตถุเป็นเครื่องวัดความสุขในชีวิต ปล่อยตนให้จมอยู่กับความสุขจอมปลอม ไม่รับรู้ความเป็นจริงและปัญหาอื่นใด หรือไม่กล้าพอที่จะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของตนและของสังคม ยึดมั่นถือมั่นผิด ๆ จนถึงวาระสุดท้ายที่สายเกินแก้ วรรณกรรมเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า การรู้ตระหนักในสัจธรรมย่อมนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น

หมู่บ้านเล็กตระกูลเป้า 小鲍庄 > (opens in a new tab)”>ซื้อหนังสือ>>
ผลงานของหวังอันอี้ 王安忆
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2555

เนื้อเรื่องโดยสังเขป ซื้อหนังสือ>>

หมู่บ้านเล็กตระกูลเป้าของหวังอันอี้…สะท้อนภาพชีวิตในหมู่บ้านชนบทของจีนต้นทศวรรษ 1960 ในระบบคอมมูนประชาชน จนกระทั่งเข้าสู่สังคมนิยมที่ทันสมัยในทศวรรษ 1980 ผู้อ่านจะได้สัมผัสความรักอันบริสุทธิ์ยิ่งใหญ่ของผู้เป็นแม่ ได้เข้าใจความบริสุทธิ์กล้าหาญของเด็กน้อย ผู้กลายเป็นวีรชนของหมู่บ้าน ได้รู้สึกสะเทือนใจกับความรักต้องห้ามของเด็กสาว และความคับแคบขมขื่นของผู้ที่ถูกสังคมลงโทษโดยไม่เป็นธรรม

หมู่บ้านเล็กตระกูลเป้าเป็น “คำเชิญชวน” ให้ผู้อ่านสำรวจตนเองผ่านตัวละคร ซึ่งเป็นตัวแทนของ “ความงดงาม” และ “ความอัปลักษณ์” อันดูจะดำรงอยู่อย่างกลมกลืนในธรรมชาติของมนุษย์ เป็นความท้าทายให้ผู้อ่านค้นหามิติอันซับซ้อนของตน เพื่อจรรโลงปัญญาให้กระจ่างใส จนสามารถ “รัก” และ “เข้าใจ” เพื่อนมนุษย์ด้วยกันได้อย่างแท้จริง!

นารีนครา 她的城 > (opens in a new tab)”>ซื้อหนังสือ>>
ผลงานของฉือลี่ 池莉
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2556

เนื้อหาโดยสังเขป ซื้อหนังสือ>>

นารีนครา พระราชนิพนธ์แปลในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เล่มนี้ เป็นนวนิยายสมัยใหม่ของ “ฉือลี่” นักเขียนหญิงผู้มีชื่อเสียง สร้างวรรณกรรมร่วมสมัยของจีนหลายเรื่อง เนื้อหาในเล่ม เป็นเรื่องราวสะท้อนสังคม และในขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นความงดงามของ “ความเป็นหญิง” ซึ่งมิได้หมายถึงรูปลักษณ์ภายนอกอันชวนให้หลงใหล หากแต่อยู่ในพลังและบทบาทหน้าที่อันยิ่งใหญ่ของความเป็นแม่ ความเป็นภรรยา และที่สำคัญที่สุดคือความเป็นเพื่อนแท้ ผ่านตัวละครสำคัญ 3 ตัว ซึ่งเป็นตัวแทนหญิงรุ่นเก่า รุ่นกลาง รุ่นใหม่ ที่ได้มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันในมิติต่างๆ และได้ถ่ายทอดเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ในกระแสสังคมที่มีการะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและซับซ้อน

การเชิดชู “ความเป็นหญิง” ในนวนิยายนี้ ทวีความลึกซึ้งยิ่งขึ้น เมื่อผู้เขียนใช้ฉากสำคัญคือ “นครอู๋ฮั่น” ซึ่งเป็นนครที่มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมยาวนาน การบรรยายฉากอย่างละเอียดให้เห็นชีวิต ความงาม และความยิ่งใหญ่ของนครอู๋ฮั่นนี้ จึงเป็นฉากที่เพิ่มความหมายลึกซึ้งให้กับชื่อเรื่อง “นารีนครา” จนอาจกล่าวได้ว่า “นารีนครา” เป็นนวนิยายที่สะท้อนวีรกรรมอันเกิดจากดวงใจแกร่งแท้ดั่งเหล็กกล้าของหญิง ซึ่งได้ดำเนินมาแล้วในอดีต ดำรงอยู่ในปัจจุบัน และจะสืบเนื่องต่อไปในอนาคต

ตลอดกาลน่ะ นานแค่ไหน 永远有多远 > (opens in a new tab)”>ซื้อหนังสือ>>
ผลงานของเถี่ยหนิง 铁凝
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2557

เนื้อหาโดยสังเขป ซื้อหนังสือ>>

ตลอดกาลน่ะนานแค่ไหน พระราชนิพนธ์แปลนวนิยายจีน ใน “สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” สะท้อนภาพสังคม วิถีชีวิต วัฒนธรรม และประเพณีของสังคมจีนยุคปัจจุบัน ผ่านตัวละครที่มีชีวิตโลดแล่นอยู่ใน “หูท่ง” สายหนึ่ง อันเป็นชุมชนย่านตรอก ซอยดั้งเดิมของกรุงปักกิ่ง ซึ่งกำลังถูกค่านิยมของสังคมสมัยใหม่รุกไล่ เฉกเช่นเดียวกับคุณธรรมของสังคมยุคเก่าที่ถูกท้าทายจากความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่

“ไป๋ต้าสิ่ง” ตัวละครหลักมีคุณธรรมเป็นเลิศ มีจิตงดงาม ซื่อสัตย์ ยอมเสียเปรียบทุกคน เธอจึงต้องทนทุกข์กับตัวตนที่เธอเป็นอยู่ ความทุกข์อันสาหัสของไป๋ต้าสิ่ง คือความผิดหวังจากความรักที่ฝ่ายชายผู้ไม่จริงใจทิ้งเธอไป คนแล้วคนเล่า แต่เธอก็ยังคง “ตกหลุมรัก” และ “รักอย่างหัวปักหัวปำ” โดยมิอาจจะช่วยตัวเองได้เลย เพราะไป๋ต่าสิ่งเห็นว่าความรักเป็นสิ่งสูงส่ง และความรักคือการให้และเสียสละอย่างไม่สิ้นสุด

ไป๋อิ๋นนา หมู่บ้านลับลี้ริมฝั่งน้ำ 白银那 ซื้อหนังสือ>>
ผลงานของ ฉือจื่อเจี้ยน 迟子建
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2561

เนื้อหาโดยสังเขป ซื้อหนังสือ>>

ไป๋อิ๋นน่า หมู่บ้านลับลี้ริมฝั่งน้ำ ประกอบด้วยวรรณกรรมจีน 4 เรื่องของ 3 นักเขียนชื่อก้องในวงวรรณกรรมจีนร่วมสมัย ผู้อ่านจะได้ซึมซับทั้งอรรถรสความงามด้านภาษา และความงดงามของความสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งความรู้ด้านวัฒนธรรมประเพณีของสังคมจีนจากอดีตถึงปัจจุบันผ่านเรื่องราวของตัวละครหลักในเรื่องเรื่อง

“ไป๋อิ๋นน่า” ของ “ฉือจื่อเจี้ยน” เป็นนวนิยายสมัยใหม่อันใช้สัญลักษณ์งดงามยิ่งจากฉากธรรมชาติที่พิเศษเข้มข้น ทั้งงดงามและโหดร้ายในเวลาเดียวกันมาอธิบายสัจธรรมในหัวใจมนุษย์ ส่วนเรื่องสั้นร่วมสมัยอีก 3 เรื่อง คือ “คำไว้อาลัยหมา” ของ “มั่วเหยียน” รวมถึง “ซุปที่อร่อยช่างน่ากลัวยิ่ง” และ “กินหม้อไฟในหน้าร้อน” ของ “ซูเฉี้ยว” ก็เป็นเรื่องสั้นที่สร้างอารมณ์สะเทือนใจแก่ผู้อ่านได้อย่างละเมียดละไม

พระราชนิพนธ์ทั่วไปเกี่ยวกับจีน

ร้อยภาพ คล้องใจ ไทย-จีน (พ.ศ. ๒๕๕๐)

เนื้อหาโดยสังเขป หนังสือ Two Journeys, One Destination – ร้อยภาพ คล้องใจ ไทย-จีน” อัญเชิญภาพถ่ายเกี่ยวกับประเทศจีน ฝีพระหัตถ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และรวมภาพถ่ายเกี่ยวกับประเทศไทย ของนางสาวริต้า เจ้า ที่ได้จัดแสดงในนิทรรศการ Two Journeys, One Destination – ร้อยภาพ คล้องใจ ไทย-จีน” ณ พิพิธภัณฑ์กรุงปักกิ่ง ระหว่างวันที่ ๓ ถึง ๑๐ เมษายน ๒๕๕๐ สาธารณรัฐประชาชนจีน มาจัดพิมพ์เป็นแคตตาล็อก โอกาสนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชนิพนธ์คำนำพระราชทาน ๓ ภาษา คือ ภาษาไทย ภาษาจีน และภาษาอังกฤษ

ศิลปะจีน (พ.ศ. ๒๕๕๐)

เนื้อหาโดยสังเขป ซื้อหนังสือ>>

“ศิลปะจีน” เล่มนี้ เป็นปาฐกถาใน “พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” ซึ่งทรงบรรยายไว้เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2548 มีความยาวประมาณ 2 ชั่วโมงเศษ แม้เวลาที่ทรงบรรยายจะไม่นานนัก แต่เนื้อหาสาระนั้นเปี่ยมด้วยคุณค่า ครอบคลุมศิลปะจีนแขนงต่าง ๆ ครบถ้วนทั้งด้านทัศนศิลป์ ศิลปะการแสดง และวรรณศิลป์ อีกทั้งยังได้ทรงฉายภาพงานศิลปะประเภทต่าง ๆ ที่คัดสรรแล้วอีกประมาณ 130 ภาพ ประกอบการบรรยาย อันทำให้ผู้ฟังเข้าใจได้ซาบซึ้ง

ปาฐกถาที่ทรงแสดงในครั้งนั้น มิใช่คำบรรยายของผู้ที่ศึกษาเนื้อหาความรู้จากตำรับตำราทั่วไป หรือจากการได้เห็นได้ชมมามากอย่างหนึ่งอย่างใด หากแต่เป็นคำบรรยายของผู้ที่ทั้งได้ศึกษา ได้เห็น และมีประสบการณ์ความเข้าใจศิลปะจีนอย่างแจ่มชัดพร้อมข้อมูล

ขอบคุณที่มา :
กองงานในองค์สมเด็จ พระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 
SE-ED / Nanmeebooks

ติดตามเรื่องเล่าจีนได้ที่ ช่อง Chinatalks และ Fanpage Chinatalks