36 กลยุทธ์ กลยุทธ์ร่วมรบ

36 กลยุทธ์ 三十六计 Thirty-Six Stratagems ตำรารวบรวมกลยุทธ์ของจีนที่ใช้ในการเมือง การสงคราม และการปกครอง 

กลยุทธ์ร่วมรบ Combined Stratagems 并战计
1. กลยุทธ์ที่ 25 ลักขื่อเปลี่ยนเสา Replace the beams with rotten timbers 偷梁换柱
2. กลยุทธ์ที่ 26 ชี้ต้นหม่อนด่าต้นไหว Point at the mulberry tree while cursing the locust tree 指桑骂槐,
3. กลยุทธ์ที่ 27 แสร้งทำบอแต่ไม่บ้า Feign madness but keep your balance 假痴不癫
4. กลยุทธ์ที่ 28 ขึ้นบ้านชักบันได Remove the ladder when the enemy has ascended to the roof 上屋抽梯
5. กลยุทธ์ที่ 29 ต้นไม้ผลิดอก Decorate the tree with false blossoms 树上开花
6. กลยุทธ์ที่ 30 สลับแขกเป็นเจ้าบ้าน Make the host and the guest exchange roles 反客为主

กลยุทธ์ที่ 25 ลักขื่อเปลี่ยนเสา

กลยุทธ์นี้มีความหมายว่า ต่อกำลังที่ร่วมรบด้วยข้าศึกกับเราหรือต่อข้าศึกจักต้องหาทางเปลี่ยนแปลงแนวรบฝ่ายนั้นอยู่เสมอ ถอดถอนเคลื่อย้ายกำลังสำคัญของฝ่ายนั้นไป รอให้ฝ่ายนั้นอ่อนแอต้องประสบกับความพ่ายแพ้จึงฉวยโอกาสแปรกำลังฝ่ายนั้น ให้กลายมาเป็นของเรา แล้วควบคุมกำลังของฝ่ายนั้นไว้ใต้การบัญชา “หยุดซึ่งกงล้อ” มาจาก “คัมภีร์อี่จิง มิทัน” อันหมายความว่ารถคันหนึ่งนั้นสำคัญที่ล้อ ถ้าหยุดล้อได้ก็สามารถบังคับให้เคลื่อนที่ไปตามความประสงค์ของเรา อันเป็นกลยุทธ์กลืนกำลังของพันธมิตรหรืสลายกำลังของข้าศึกอย่างหนึ่ง

กลยุทธ์นี้สรุปได้ว่า “กลยุทธ์นี้มีความหมาย 2 นัย หนึ่งหมายถึงการหาทางสับเปลี่ยนกำลังหลักของพันธมิตรชั่วคราวที่เป็นศัตรูโดยเนื้อแท้ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการทำลายหรือกลืนกินพันธมิตรนั้นเสีย ซึ่งในสมัยศักดินาโบราณ มักจะชอบกระทำกันเป็นนิจ โดยมิได้คำนึงสัจวาจาหรือศิลธรรมแต่ประการใด อีกนัยหนึ่งหมายถึงเป็นกลยุทธ์ในการโยกย้ายกำลังหลักของฝ่ายข้าศึก โดยใช้กลลวงต่างๆนานา ทำให้ข้าศึกต้องเปลี่ยนแนวรบหรือเคลื่อนย้ายกำลังไปตามความประสงค์ของเรา ครั้งแล้วจึงเข้าตีจุดอ่อนข้าศึก เพื่อให้ได้รับชัยชนะ ดังนั้น ผู้บัญชาการทีชาญฉลาดจึงมิใช้แต่จะสันทัดในการใช้กำลังพลของฝ่ายตนเท่านั้น หากยังต้องสันทัดในการเคลื่อนย้ายหรือกระจายกำลังของฝ่ายข้าศึกด้วยกลยุทธ์ ให้เกิดประโยชน์แก่ตนอีกด้วย”

กลยุทธ์ที่ 26 ชี้ต้นหม่อนด่าต้นไหว

กลยุทธ์นี้มีความหมายว่า เมื่อผู้ที่เข้มแข็งกว่าหรือรัฐใหญ่รังแกผู้ที่อ่อนแอหรือรัฐเล็กแล้ว ก็ควรจะใช้วิธีการตักเตือนให้เกรงกลัว ถ้าแม้นเราแสดงความเข้มแข็งให้ประจักษ์ ก็จักได้รับการสนับสนุนจากผู้อ่อนแอ ถ้าเรากล้าใช้ความรุนแรง ก็จักเป็นที่ยอมรับนับถือแก่ผู้อ่อนแอ
“แกร่งจึงต้อนรับ เสี่ยงจึงยอมสยบ” เดิมาจาก “คัมภีร์อี้จิง แม้ทัพ” ความเต็มว่า “แกร่งจึงต้อนรับ เสี่ยงจึงยอมสยบ นี้คือหนทางปกครองแผ่นดินราษฎรจึงขึ้นต่อ”
ความหมายของ “ชี้ต้นหม่อนด่าต้นไหว” ตรงกับสุภาษิตไทยเราคำว่า “ตีวัวกระทบคราด” แต่เมื่อใช้ในการสัประยุทธ์ ไม่ว่าจะเป็นทางการทหารหรืออื่นๆ ก็เป็นกลยุทธ์ที่มีความหมายในทำนองสร้างเกียรติภูมิของตนขึ้นด้วยวิธี “ฆ่าไก่สอนลิง” เพื่อให้ฝ่ายอื่นที่อ่อนแอกว่าหรือผู้อยู่ใต้การบังคับบัญชายอมสยบด้วยอย่างหนึ่ง

กลยุทธ์นี้สรุปได้ว่า “เพื่อที่จะดำเนินตามแผนการที่ได้วางไว้ จักต้องใช้มาตรการเด็ดขาด จึงจะสามารถได้รับผลตามที่ได้กำหนด แต่ความเด็ดขาดนั้น ใช้ว่าจะต้องอาศัยกำลังความรุนแรงเสมอไป อาจดำเนินด้วยวิธีการหนึ่งใด ที่ทำให้ฝ่ายตรงข้างตระหนักในเจตนา ยอมสยบแต่โดยดี เพราะจนปัญญาที่จะต่อตีด้วยเรา นั้นเอง”

กลยุทธ์ที่ 27 แสร้าทำบอแต่ไม่บ้า

กลยุทธ์นี้มีความหมายว่า ยอมแสร้งทำเป็นโง่ มิเคลื่อนไหว อย่าทำเป็นสู่รู้ทำบู่มบ่าม
คำว่า “ดุจดั่งอสนีบาตหยุดฟาดฟัน” เก็บความมาจาก “คัมภีร์อี้จิง หยุด” ความว่า “อสนีบาตฤดูหนาวแฝงกายอยู่ใต้พื้นพสุธา จักแผดร้องก้องนภาคราฤดูใบไม้ผลิ” ซึ่งความหมายว่า ผู้ที่มีสติปัญญามิพึงแสดงตัว แต่พึงเตรียมการทั้งปวงอย่างลับๆ ประหนึ่งคมดาบอยู่ในฝัก มิปรากฏให้เห็น ครั้งเมื่อถึงกาลอันควร ก็จักคำรนคำรามเหมือนสายฟ้า ที่จะกระหน่ำพสุธาให้แตกสลายไปฉะนั้น นี้นับเป็นกลยุทธ์หลอกลวงมึนชาข้าศึก แสดงความบ้าใบ้ทางภายนอก แต่ตื่นตัวโดยตลอดอยู่ภายใน ดำเนินการอย่างลับและพลิกแพลงเพื่อเอาชนะข้าศึกอย่างหนึ่ง กลยุทธ์นี้มีส่วนละม้ายคล้ายกับสำนวนไทยเราที่ว่า “หน้าไหว้หลังหลอก” หรือ “ต่อหน้ามะพลับ ลับหลังตะโก” ในบางแง่บางมุม

กลยุทธ์นี้สรุปได้ว่า “ยามเมื่อสถานการณ์ไม่เป็นผลดี ควรจะสะกดกลั้นตัวเองไว้ แสร้งทำเป็นโง่เง่า อวดฉลาดยิ่งจะไม่เป็นผลดีแก่ตน นี้เป็นวิธีรู้รักษาตัวรอดอย่างหนึ่งในยามปั่นป่วน คนฉลาดมักจะใช้วิธีการนี้ป้องกันตัวและวางแผนเอาชนะศัตรู คนที่ดูโง่เขลานั้น โดยภายนอกก็อาจจะเห็นเป็นเต่าตุ่น แต่ที่แท้แล้วภายในนั้นคมกริบ รู้เขารู้เรา พึงถอยก็รู้จักถอย มิดันทุรังรุกไปโดยไม่ดูตาม้าตาเรือ ดังนั้นจึงสามารถที่จะเป็นฝ่ายริเริ่มกระทำในการทั้งปวง เพราะเข้าใจในเหตุการณ์อย่างรู้แจ้งแทงตลอด และรอจังหวะที่จะบุกกระหน่ำมิยอมให้ศัตรูตั้งตัวติดตลอดเวลา กลยุทธ์นี้มักจะพบเห็นบ่อยๆ โดยทั่วไป ผู้ใดใช้เป็นด้วยความสันทัดจัดเจน ผู้นั้นย่อมจะได้รับผลสำเร็จ และเป็นผู้ทีน่ากลัวสำหรับฝ่ายตรงข้ามที่มิรู้แจ้งในกล”

กลยุทธ์ที่ 28 ขึ้นบ้านชักบันได

กลยุทธ์นี้มีความหมายว่า จงใจเปิดจุดอ่อนให้ข้าศึกเห็น สร้างเงื่อนไขและล่อหลอกให้ข้าศึกเข้าตี ครั้นแล้วตัดขาดส่วนหน้าที่คอยสมทบ และส่วนหลังที่เป็นกำลังหนุน บีบให้ข้าศึกเข้าไปในปากถุงที่เปิดอ้าไว้รับหรือในวงล้อมหลุมพรางที่วางดักไว้ “เจอพิษ มิควรที่” มีใน “คัมภีร์อี้จิง ขบ” เปรียบประดุจเคี้ยวกระดูกหรือเนื้อเหนี่ยว รังแต่จะทำให้ฟันชำรุดเสียหาย หรือเหมือนดั่งมักได้ในสิ่งที่มิควรได้ ย่อมจักนำมาซึ่งความวิบัติฉะนั้น “ขึ้นบ้านชักบันได” มีความหมายอย่างเดียวกันกับ “ข้ามคลองรื้อสะพาน” นี้คือกลยุทธ์ที่ใช้ผลประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ ล่อลอกให้ข้าศึกพินาศไปทั้งกองทัพอย่างหนึ่ง

กลยุทธ์นี้สรุปได้ว่า “ขึ้นบ้านชัดบันได” มีความหมายค่อยข้างกว้าง หนึ่งในนั้นก็คือใช้ผลประโยชน์เล็กน้อย ล่อให้ข้าศึกเข้าปิ้ง แล้วทำลายเสียให้สิ้น ซึ่งก็หมายความว่าเมื่อข้าศึกบุกเข้าในอาณาเขตของเรา เราจงใจจะเปิดทางตันให้กับเขา เมื่อข้าศึกหลงกลตกอยู่ในวงล้อม ก็จะตื่นตระหนกเดินไปตามหนทางที่เราเปิดไว้ให้ เมื่อเราตัดทางรุกและทางถอย ข้าศึกก็จนด้วยเกล้า ถ้าไม่ยอมจำนน ก็เหลืออยู่แต่ทางตายถ่ายเดียว ในกลยุทธ์นี้ ที่สำคัญคือ “บันได้” จงใจให้ข้าศึกเห็นจุดอ่อนและมุ่งมั่นจะใช้จุดอ่อนให้เป็นประโยชน์แต่ตน นี้ก็คือ “บันได” ถ้าไม่มี “บันได้” ดังกล่าว กลยุทธ์นี้ก็ยากที่จะได้รับผล”

กลยุทธ์ที่ 29 ต้นไม้ผลิดอก

กลยุทธ์นี้มีความหมายว่า ใช้แนวรบของมิตรมาสร้างแนวรบที่เป็นประโยชน์แต่เราขึ้น แม้กำลังจะน้อย แต่ก็สามารถทำให้ดูเหมือนใหญ่โต ดุจเดียวกับนกอินทรีที่ผกผินอยู่ในอากาศ ปีกขนกางเหยียดมีท่วงท่าน่าเกรงขาม คำว่า “นกใหญ่โผบิน ปีกนกช่วยพาสง่างาม” มากจา “คัมภีร์อีจิง รุก” หมายความว่า นกใหญ่เหินฟ้า อาศัยสองปีกอันแข็งแรง บินร่อนซอกซอนไปตามปุยเมฆ มิมีสิ่งกีดขวาง อันคล้ายกับสำนวนไทยที่ว่า “ปีกหนักกวักละประโยชน์” กลยุทธ์นี้ มองอีกแง่หนึ่ง ก็จะเหมือนกับคำว่า “สร้างสถานการณ์ให้เป็นประโยชน์” หรือ “ยืมมือที่สาม” เมื่อใช้ในการทหาร ก็เป็นกลยุทธ์ในการยืมกำลังผู้อื่น มาเสริมกำลังตนให้ดูแข็งแกร่งขึ้น เพื่อสยบข้าศึกอย่างหนึ่ง

กลบยุทธ์นี้จึงสรุปได้ว่า “ทีว่า “ต้นไม้ผลิดอก” ก็คือทำให้ต้นไม้ซึ่งที่แท้ไม่มีดอก สามารถผลิดดอกออกสะพรั่งให้เห็นโดยใช้วิธีเอาดอกไม้ปลอมไปติดไว้ที่ต้นนั้น ซึ่งหากไม่พินิจพิจารณาให้ดี ก็จะไม่รู้ว่าเป็นของปลอม และอาศัยสิ่งนี้ หมุนเปลี่ยนสภาพการณ์ให้กลายมาเป็นผลดีแก่เรา หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ยืมสิ่งอื่นมาบังหน้า ให้ข้าศึกเกิดความเข้าใจผิด แล้วฉวยโอกาสเคลื่อนไหวให้เป็นไปตามความประสงค์ นั้นเอง”

กลยุทธ์ที่ 30 สลับแขกเป็นเจ้าบ้าน

กลยุทธ์นี้มีความหมายว่า เมื่ออีกฝ่ายหนึ่งเปิดช่องให้สอดแทรก ควรแทรก กุมจุดสำคัญหรือหัวใจของอีกฝ่ายไว้ “ค่อยผันสู่ชัยชนะ” พบได้ใน “คัมภีร์อี้จิง รุก” ซึ่งมีความเต็มว่า “สรรพสิงในใต้หล้า เคลื่อนอย่างใจร้อนจักเสีย สงบแต่คล้อยตามจักได้ ค่อยๆผันไปช้าๆ จักเป็นคุณ เคลื่อนดังนี้จึงจะมีผล” อันหมายความว่า การตอกลิ้มเข้าไปในฝ่ายตรงข้าม เพื่อยึดอำนาจการบัญชาการนั้น จัดต้องค่อยเป็นค่อยไป ดังนี้จึงจะบรรลุซึ่งชัยชนะได้ “สลับแขกเป็นเจ้าบ้าน” ความหมายเดิมก็คือ เจ้าบ้านต้อนรับแขกไม่เป็น แขกจึงชิงกลับมาเป็นฝ่ายต้อนรับเจ้าบ้านเสียเอง อันเป็นกลยุทธ์เปลี่ยนจากฝ่ายถูกกระทำเป็นฝ่ายการะทำอย่างหนึ่ง

กลยุทธ์นี้สรุปได้ว่า “สลับแขกเป็นเจ้าบ้าน” ก็คือแขกแย่งเป็นเจ้าบ้านเสียเอง เปลี่ยนฐานะจากฝ่ายถูกกระทำ เป็นฝ่ายกุมอำนาจการกระทำ และบงการให้สถานการณ์เป็นไปตามความประสงค์ ในขณะที่ตกอยู่ในภาวะเสียเปรียบ จะต้องยอมเป็น “แขก” ชั่วคราว เพื่อช่วงชิงเวลาสะสมกำลัง อาศัยชัยชนะเล็กๆน้อยๆ ครั้งแล้วครั้งเล่าโดย “เจ้าบ้าน” จำยอมต้องกลับกลายเป็น “แขก” เพราะมิมีปัญญาที่จะต้านทานได้เลย ฉะนี้