สุ่ยเตี้ยวเกอโถว 水调歌头 ทำนองเพลงสายน้ำ

สุ่ยเตี้ยวเกอโถว 水调歌头 ทำนองเพลงสายน้ำ เป็นบทกลอนของซูซือ หรือซูตงโพ กวีเอกในสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ เป็นบทกลอนประจำเทศกาลวันไหว้พระจันทร์

สุ่ยเตี้ยวเกอโถว
ซูซื่อ

ปีปีิ่งเฉิน (ค.ศ. ๑o๗๖) เทศกาลไหว้พระจันทร์ 
ดื่มสุราด้วยความเบิกบานจวบจนรุ่งสาง เมามาก 
แต่งบทกวีนี้และรำลึกถึงจื่อโหยว

จันทร์สกาวเช่นนี้มีเมื่อใด ถือถ้วยสุราถามฟ้าคราม
ไม่ทราบว่าในวังสวรรค์คืนนี้เป็นปีใด คิดจะเหินลมกลับไป
แต่เกรงว่าวังงามดุจหยกบนฟ้า สูงจนหนาว ทนไม่ได้
ไหนเลยจะเหมือนอยู่โลกมนุษย์

แสงจันทร์ต้องหอแดงเคลื่อนลงสู่หน้าต่างสลัก
ส่องสว่างจนนอนไม่หลับ
มิควรโกรธ ยามจากกัน ไยพระจันทร์มักเต็มดวง
คนมีทุกข์ มีสุข มีพราก มีพบ
จันทร์มีมืด มีสว่าง มีเต็ม มีเสี้ยว
เป็นดั่งนี้มาแต่โบราณ มิอาจสมบูรณ์พร้อม
เพียงหวังคนอายุยืน แม้ห่างกันพันลี้ ร่วมกันชมจันทร์งาม

หมายเหตุ

สุ่ยเตี้ยวเกอโถว เป็นทำนองเพลงสมัยราชวงศ์สุย ต่อมาใช้เป็นทำนองฉือ วลีนี้แปลตามศัพท์ว่า ทำนองเพลงสายน้ำ ท่อนแรก (สุ่ย = นำ้ เตี้ยว = ทำนอง เกอ = เพลง โถว = หัว) ฉือสุ่ยเตี้ยวเกอโถวใช้ตัวอักษรรวม ๙๕ ตัว สัมผัสนอกด้วยวรรณยุกต์เสียงที่ ๑ และ ๒ ต่อมาในสมัยราชวงศ์ซ่ง บาทที่มีตัวอักษร ๖ ตัวในท่อนแรกและท่อนที่ ๒ สัมผัสนอกด้วยวรรณยุกต์เสียงที่ ๓ เสียงที่ ๔ และตัวสะกด นอกจากนั้น ในบางครั้งบางประโยคก็ส่งสัมผัสกันด้วย

ซูซื่อหรือที่มีอีกชื่อหนึ่งว่า ซูตงปัว (ค.ศ. ๑o๓๗? – ๑๑o๑) ได้นำฉือสุ่ยเตี้ยวเกอโถวมาประพันธ์บทร้องที่ไพเราะ จนเป็นที่รู้จักและได้รับการยกย่องมาก ในด้านชีวประวัติ เป็นคนสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ ได้รับการยกย่องว่าเป็นศิลปินเรืองนาม มีความสามารถในศิลปะหลายแขนง และมีผลงานศิลป์หลายด้าน ถิ่นฐานเดิมอยู่ที่เหมยโจว ปัจจุบันคือ อำเภอเหมยซาน มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ในค.ศ. ๑o๕๗ สอบได้จิ้นซื่อ เข้าสอบราชการ ได้เป็นขุนนางท้องถิ่นหลายเมืองเป็นคนฉลาด ทำงานดี แต่ชีวิตราชการลุ่ม ๆ ดอน ๆ เคยถูกกลั่นแกล้งหลายครั้ง ถึงชนาดที่ถูกส่งไปอยู่ที่ฮุ่ยโจวและเกาะไหหลำ ซึ่งในสมัยนั้นเป็นเขตกันดารล้าหลัง ในค.ศ. ๑๑oo จักรพรรดิื์ฮุ่ยจงขึ้นครองราชย์ ได้ทรงพระกรุณาให้กลับไปรรับราชการที่เมืองทางเหนือ อันเป็นถิ่นที่มีความเจิรญในปีถัดมา (ค.ศ. ๑๑o๑) ซูซื่อถึงแก่กรรมที่เมืองฉังโจว

สาเหตุที่ชีวิตราชการลุ่ม ๆ ดอน ๆ นั้น เพราะซูซื่อเป็นตัวของตัวเอง ยึดมั่นในหลักการที่อิงความดี ความถูกต้อง มิได้เอนเอียงลู่ไปตามอำนาจหรือผลประโยชน์ ในสมัยที่ซูซื่อเป็นขุนนาง มีความคิดเห็นที่แตกแยกกันในด้านการเมืองการปกครอง หวังอานสือ ขุนนางผู้ใหญ่มีอำนาจมากได้ปฏิรูปการปรกครอง มีหลายอย่างที่ซูซื่อไม่เห็นด้วยจึงคัดค้าน พอหวังอานสือหมดอำนาจ พวกหัวเกาขึ้นมามีอำนาจแทน ก็ต่อต้านการปฏิรูปของหวังอานสือทั้งหมด แต่ซูซื่อเห็นต่างออกไปว่า การปฏิรูปบางอย่างที่ดีควรดำเนินต่อไป หวกหัวเก่าจึงไม่ชอบ ซูซื่อจึงตกที่นั่งลำบาก กลุ่มขุนนางทั้งหัวเก่าและหัวใหม่ต่างไม่ชอบ ชีวิตราชการจึงลุ่ม ๆ ดอน ๆ

แต่ในด้านงานศิลป์ ซูซื่อประสบความสำเร็จมาก มีความสามรถและผลงานหลายด้าน

๑. ได้รับการยกย่องว่าเขียนเรียงความดี ไพเราะ มีชื่อเสียงเคียงคู่กับโอหยังซิว

๒. เขียนซือดี มีชื่อเสียงคู่มากับหวังถิงเจีน เป็น ซู-หวง แห่งราชวงศ์ซ่ง ได้ริเริ่มรูปแบบการเขียนซือแบบใหม่

๓. เขียนฉือก็เขียนได้ดียิ่ง ซูซื่อและซินชื่จี๋มีชื่อเสียงคู่กัน เป็นซู-ซิน กวี ๒ ท่านได้เปลี่ยนแก่นเรื่องที่ใช้เขียนฉือ ทำให้ฉือมีฐานะสูงขึ้น สมัยก่อนมีความเห็นว่า ฉือ สู้ ซือ ไม่ได้ เพราะเขียนแต่เรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ ซู-ซินได้ปรับแนวมาเขียนเรื่องที่มีสาระมากขึ้น

๔. เขียนพู่กันจีนได้สวยงดงาม เป็น ๑ ใน ๔ คนที่ได้รับการยกย่องว่าเขียนสวยเป็นแบบฉบับ

๕. วาดภาพก็ได้รับการยกย่องเช่นกัน เป็นจิตรกรที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งในสมัยราชวงศ์ซ่ง

ส่วนเกร็ดประวัติในการแต่งฉือบทนี้มีอยู่ว่า ในค.ศ. ๑o๗๖ ซูซื่อรรับราชการอยู่ที่เมืองหังโจว ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน รู้สึกคิดถึงน้องชายที่ชื่อ จื่อโหยว เพราะไม่ได้พบกัน ๖ ปี จึงขอย้ายไปรับราชการที่เมืองมี่โจว ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบันคือ อำเภอจูเฉิง มณฑลซานตง เพื่อจะได้ไปอยู่ใกล้น้องชายซึงเป็นขุนนางอยู่ที่ฉีโจว ปัจจุบันคือ เมืองจี่หนาน มณฑลซานตง เมื่อไปถึงมี่โจวยังไม่มีโอกาสได้พบน้องชาย ด้วยความคิดถึงจึงประพันธ์ฉือบทนี้ในคืนเทศกาลไหว้พระจันทร์ เป็นฉือที่แต่งดี มีชื่อเสียงมาจนทุกวันนี้

กลอนบาทที่ ๒ วังสวรรค์ หมายถึง วังบนพระจันทร์ คนโบราณเชื่อว่า บนสวรรค์กับปีบนโลกมนุษย์ต่างกัน

บาทที่ ๔ และ ๕ นักวรรณคดีตีความต่างกันดังนี้

ความเห็นหนึ่งกล่าวว่า ข้าร้องรำทำเพลงใต้แสงจันทร์กระจ่าง เงาสลับไปมา แม้วังบนพระจันทร์ดีเพียงไรก็ยังสู้โลกมนุษย์ไม่ได้

ส่วนอีกความเห็นกล่าวว่า ข้าร้องรำทำเพลงใต้แสงจันทร์กระจ่าง ขอให้เงาหมุนตามตัวเรา เราก็จะเหมือนเทพเจ้าที่อยู่บนดิน

บาทที่ ๘ พระจันทร์เหมือนแกล้ง เหมือนโกรธ ทั้งที่มิควรโกรธ พระจันทร์มักเต็มดวงยามคนเราจากกัน

บาทสุดท้าย สื่อความว่า ขอให้เรามีอายุยืนนาน ถึงจะอยู่ห่างกันพันลี้ ใจเราอยู่ด้วยกันใต้จันทร์ดวงเดียวกัน เหมือนชมจันทร์งามร่วมกัน

มีเรื่องเล่าอยู่ว่า เมื่อซูซื่อเขียนฉือบทนี้แล้ว ได้ให้นักร้องชื่อ เหยียนเถา ร้องเพลงนี้ ซูซื่อเองเต้นรำประกอบเพลง เหยียนเถาบอกว่า ทั้งฉือทั้งคนพันปีจะมีจะหาได้ยาก นอกจากนั้นมีผู้วิจารณ์ว่า เมื่อซูซื่อเขียนฉือบทนี้ ฉือของคนอื่นที่เขียนถึงพระจันทร์เก็บทิ้งได้แล้ว

ข้อมูลจากหนังสือ​ “หยกใสร่ายคำ” บทพระราชนิพนธ์แปลในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

เพลงหวังว่าเราจะอยู่ด้วยกันนิจนิรันดร์ 但愿人长久 ผลงานการร้องโดยเติ้งลี่จวิน / หวังเฟย