พระยูไล 如来 พระพุทธเจ้าของจีน

ยูไลหรือหรูไหล 如来 คือ คำเรียกพระพุทธเจ้า โดยไม่ได้ระบุพระองค์ว่าเป็นพระองค์ใด ทั้งนี้ตามความเชื่อของ พุทธศาสนา เชื่อว่า มีพระพุทธเจ้าหลายพระองค์ ดังนั้น พระยูไล จึงมีหลายพระองค์ โดยแต่ละพระองค์ก็จะมีชื่อ “ยูไล” ต่อท้ายพระนามของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ และนอกจากคำว่ายูไลแล้ว ยังมีคำที่พระพุทธเจ้าใช้เรียกแทนตัวเองอีก 9 ชื่อ ซึ่งถูกบันทึกไว้อยู่ใน คัมภีร์พุทธะวจนะสิบพระนาม 佛说十号经 คือ

หรูไหล 如来
อิงกง 应供
หมิงสิงจู๋ 明行足
ซ่านซื่อ 善逝
ซื่อเจียนเจี่ย 世间解
อู๋ซั่งซื่อ 无上士
เตี้ยวอวี้จ้างฟู 调御丈夫
เทียนเหรินซือ 天人师
ซื่อจุน 世尊
เจิ้งเติ่งเจวี๋ย 正等觉

พุทธลักษณะขององค์พระยูไล มักอยู่ในปางประทับนั่งบนบัลลังค์ดอกบัว พระพักตร์เปี่ยมไปด้วยพระเมตตา ด้านหลังของพระองค์มักสร้างเป็นรูปประกายรัศมีหรือประภามณฑล (คล้ายเปลวไฟ) บางครั้งจะวาดให้มีประกายรัศมีดุจดั่งดวงอาทิตย์ บนพระอุระจะมีสัญลักษณ์ “สวัสติกะ” หรือ “ว่าน” อันเป็นสัญลักษณ์สำคัญแห่งความสุขสวัสดีและเครื่องหมายประจำพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน

ในตำนานเรื่องเล่าขานเกี่ยวกับพระยูไล มักมีประติมากรรมเป็นรูปฝ่าพระหัตถ์ของพระยูไล เรียกกันว่า ฝ่ามือยูไล หรือ ยูไลเสินจ่าง 如来神掌 ความหมายของคำ ๆ นี้มาจากตำนานเรื่อง ไซอิ๋ว 西游记 ที่เล่าถึงเห้งเจีย (ซุนหงอคง) ผู้เก่งกาจสามารถ ซึ่งแม้แต่กองทัพสวรรค์นับหมื่นก็ไม่อาจเอาชนะได้ แต่เพราะความทระนงของซุนหงอคงที่อาจหาญมาพนันขันต่อกับพระยูไล โดยประกาศว่าสามารถเหาะเหินได้ไกลหลายพันลี้ และสามารถกระโดดข้ามพ้นฝ่าพระหัตถ์ขององค์พระยูไลได้อย่างง่ายดาย แต่ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าซุนหงอคงจะกระโดดไกลเพียงใด เหาะเหินไปมากเพียงไหน ก็ยังไม่อาจก้าวข้ามพ้นภูเขา 5 ยอดสูงที่อยู่เบื้องหน้าได้ ซึ่งภูเขาห้ายอดนั้น แท้ที่จริงแล้วก็คือฝ่าพระหัตถ์ขององค์พระยูไลนั้นเอง ผลจากการพ่ายแพ้นี้ ทำให้ซุนหงอคงต้องถูกทับอยู่เบื้องใต้ภูเขา 5 ยอดนั้น ซึ่งเรียกกันว่า ภูเขาอู่จื่อซาน 五指山 นานถึง 5 ร้อยปี

จากเหตุการณ์ในตำนานเรื่องนี้ จึงเป็นที่มาของคำว่า หรูไหลเสินจ่าง 如来神掌 หรือ ฝ่ามือยูไล ซึ่งเป็นเสมือนรูปเคารพ ที่เป็นคติเตือนใจ ไม่ให้มีความทระนงหรือหยิ่งยะโสในตนเอง

อ่านเพิ่มเติม : พระพุทธเจ้า 3 พระองค์ในพุทธศาสนามหายาน