ปาต้าชู่ ปักกิ่ง ไหว้พระ 8 วัด ในที่เดียว

ปาต้าชู่ ตั้งอยู่บริเวณทิศตะวันตกของกรุงปักกิ่ง เป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับ 4A ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีชื่อเสียงโด่งดัง มีทิวทัศน์สวยงาม คำว่า ปาต้าชู่ 八大处 ปาแปลว่าแปด ต้าแปลว่าใหญ่ ชู่แปลว่าสถานที่ หมายความว่ามีสถานที่สำคัญและขึ้นชื่อ 8 แห่ง

ปาต้าชู่ ตั้งอยู่บนภูเขาซีซาน เทือกเขาชุ่ยเวย ผิงโพและหลูเซอ มีวัดโบราณ 8 แห่ง และยังเป็นสวนสาธารณะ สถานที่พักผ่อนหย่อนใจของคนปักกิ่งอีกด้วย

วัดทั้ง 8 แห่งในปาต้าชู่ ประกอบด้วย

1.วัดฉางอัน 长安寺 เป็นวัดแห่งแรกในสวนปาต้าชู่ ห่างจากประตูใหญ่เพียงแค่ประมาณ 500 เมตร สร้างขึ้นในปี 1504 ในสมัยราชวงศ์หมิง เดิมชื่อวัดซ่านอิ้ง แล้วมีการปฏิสังขรณ์ในสมัยราชวงศ์ชิง มีการขยายวัดและเปลี่ยนชื่อให้เป็นวัดฉางอัน ในวัดนี้ มีรูปปั้นเจ้าพ่อกวนอู ซึ่งมีความโดดเด่นมากกว่าพระพุทธรูปที่บูชาอยู่ในวิหารข้างหลังและมีไม้โบราณ คือ ต้นสนลำต้นสีขาว 2 ต้นที่มีอายุยาวนานหลายร้อยปี เป็นต้นไม้อนุรักษ์ของกรุงปักกิ่ง ตามบันทึก ในสมัยราชวงศ์หมิง วัดฉางอันขึ้นชื่อด้วยต้นสนแปลก 4 ต้น และมีพระพุทธรูปพระอรหันต์ 500 องค์ ถือเป็นวัดที่ศักดิ์สิทธิ์มากในสมัยนั้น แต่เนื่องจากถูกทำลายในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม และยังไม่สามารถฟื้นฟู ปัจจุบันจึงไม่ได้เปิดให้เข้าชม

2. วัดหลิงกวง 灵光寺 เป็นวัดที่สำคัญที่สุดในปาต้าชู่ สร้างขึ้นระหว่างปี 766-779 ในสมัยราชวงศ์ถัง เดิมชื่อวัดหลงฉวน ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดจวยซาน และเป็นวัดหลิงกวงในสมัยราชวงศ์หมิง เนื่องจากมีการขยายต่อเติมระหว่างปี 1436-1449

ในอดีตวัดหลิงกวงมีพื้นที่กว้างใหญ่ แบ่งเป็น 5 เขต แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 3 เขต ในเขตต้าเปย มีวิหารเจ้าแม่กวนอิมและวิหารพระพุทธรูป รวมทั้งกุฏิ 14 กุฏิ ทางตะวันตกมีสระน้ำ เป็นที่ปล่อยปลาของวัด ริมสระน้ำมีเจดีย์องค์หนึ่ง แต่ถูกทหารพันธมิตร 8 ชาติทำลายเมื่อปี 1900 จนเหลือแค่ฐานเจดีย์ ต่อมาพระสงฆ์ของวัดทำความสะอาดพื้น ได้พบตลับหินที่เก็บพระเขี้ยวแก้วพระบรมสารีริกธาตพระศากยมุนี ซึ่งปัจจุบันประดิษฐานไว้ในเจดีย์ที่สร้างขึ้นมาใหม่เมื่อปี 1964 เป็นเจดีย์สูง 51 เมตร ทั้งหมด 7 ชั้น พระเขี้ยวแก้วประดิษฐานอยู่ชั้น 2

ตามบันทึก พระเขี้ยวแก้วนี้ได้อัญเชิญมาจากก๊กอวี๋เถียน ในสมัยราชวงศ์หนานเฉา ประมาณ 1,600 กว่าปีที่แล้ว เริ่มแรกประดิษฐานอยู่ที่เมืองเจี้ยนคัง เมืองหลวงก๊กหนานฉี แล้วอัญเชิญไปยังเมืองซีอานในสมัยราชวงศ์สุย สุดท้ายอัญเชิญมาประดิษฐานที่กรุงปักกิ่งในปลายราชวงศ์ถัง

เชื่อกันว่า พระเขี้ยวแก้วมีทั้งหมด 4 องค์ ดังนี้

พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนขวา ท้าวสักกะอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ พระจุฬามณีเจดีย์ บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
พระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำขวา ประดิษฐานที่แคว้นกลิงคะ แล้วจึงถูกอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ ลังกาทวีป (วัดพระเขี้ยวแก้ว ประเทศศรีลังกา ในปัจจุบัน)
พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนซ้าย ประดิษฐาน ณ แคว้นคันธาระ แล้วเชื่อว่าถูกอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่เมืองฉางอัน ประเทศจีน (ซีอาน) โดยพระภิกษุฟาเหียนเมื่อคราวจาริกไปสืบพระศาสนายังอินเดีย ปัจจุบัน พระเขี้ยวแก้วองค์นี้ถูกอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ พระมหาเจดีย์ ณ วัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง
พระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำซ้าย ประดิษฐานในภพพญานาค

เนื่องจากพระเขี้ยวแก้วมีแค่ 2 องค์ในโลก และหนึ่งในนั้นอยู่ที่วัดหลิงกวง ในแต่ละปีคนจากทั่วโลกเดินทางมากราบสักการะ พระเขี้ยวแก้วจำนวนมาก

3. วัดซานซัน 三山庵 หรือวัดสามเขา มาจากชื่อที่ตั้งของวัด ซึ่งสร้างท่ามกลางภูเขาชุ่ยเวย ผิงโพ และหลูเซอ เป็นวัดที่สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ.1694 สมัยราชวงศ์จิน และบูรณะปฏิสังขรณ์ในสมัยกษัตริย์เฉียนหลงราชวงศ์ชิง ในวัดประดิษฐานพระพุทธรูปพระศากยมุนี พระอาจารย์ต๋าเทียนทงหลี่พระมหาเถระในรัชสมัยกษัตริย์ยงเจิ้งและกษัตริย์เฉียนหลงมาพำนักที่นี่เพื่อศึกษาวิจัยธรรมะและประพันธ์หนังสือ

4. วัดต้าเปย 大悲寺 ตั้งอยู่ระหว่างวัดซานซันและวัดหลงฉวน เล่ากันว่า เริ่มสร้างตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ ประมาณปี 1033 วัดแห่งนี้ประตูหันหน้าไปทิศตะวันออก มีต้นชิว 2 ต้นอยู่ตรงหน้าประตูวัด เป็นต้นไม้โบราณ หน้าวิหารแรกมีป้ายเป็นลายพระหัตถ์ของกษัตริย์คังซี แห่งราชวงศ์ชิง แสดงว่าพระราชวังให้ความสำคัญกับวัดแห่งนี้ พระวิหารหน้าประตูได้ตั้งรูปปั้นของท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 ถัดไปเป็นพระวิหารหลัก ประดิษฐานพระพุทธรูป 3 องค์ ด้านข้างซ้ายขวาเป็นพระอรหันต์ 18 องค์ เชื่อกันว่าเป็นฝีมือของนายหลิว หยวน ประติมากรสมัยราชวงศ์หยวน รูปปั้นเหล่านี้ ทำจากผงไม้จันทน์และทรายละเอียด แม้ว่าเวลาผ่านไปเป็นพันปี แต่ยังมีกลิ่นหอมลอยอยู่ตลอดเวลา

เมื่อออกจากพระวิหารหลัก เดินต่อไป จะมีพระวิหารด้านหลังที่ประดิษฐานเจ้าแม่กวนอิม หน้าพระวิหารแห่งนี้มีต้นแปะก๊วยโบราณอยู่ 2 ต้น

5.วัดหลงฉวน 龙泉庵 หรือ หลงหวังถาง 龙王堂 หรือศาลเจ้ามังกร ตั้งอยู่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวัดต้าเปย แรกสุดเป็นวัดฮุ่ยหยุนที่สร้างขึ้นเมื่อปี 1425 สมัยราชวงศ์หมิง เมื่อปี 1645 จักรพรรดิชุ่นจื้อ ในสมัยราชวงศ์ชิง ทรงพบน้ำพุข้างใน จึงให้สร้างศาลเจ้ามังกรขึ้นมา แล้วรวมวัดและศาลเจ้าเป็นหนึ่งเดียว ตั้งชื่อใหม่ว่าวัดหลงฉวน

บริเวณวัดหลงฉวนปลูกต้นสนมากมาย จนเหมือนเมฆเขียวใหญ่ ทำให้ในวัดมีความร่มรื่นในฤดูร้อน ปัจจุบันเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่ดี ในวัดมีร้านชาหลงฉวนที่ตั้งขึ้นมานาน มีคนมานั่งพักร้อนและจิบชาไม่ขาดสาย มีเชื่อเสียงดังไปทั่วกรุงปักกิ่ง เนื่องจากชาที่ชงด้วยน้ำพุนั้น มีรสหวาน แบบที่นักจิบชาติดใจ

6 . วัดเซียงเจี้ย 香界寺 เป็นวัดที่มีพื้นที่กว้างที่สุดในปาต้าชู่ เริ่มสร้างสมัยราชวงศ์ถัง (ปี 758-760) วัดแห่งนี้หันหน้าไปทางทิศใต้ตามแนวเขา มีความสง่างาม เป็นที่พักและบวงสรวงของกษัตริย์ในสมัยต่าง ๆ วัดนี้มีพื้นที่กว้างใหญ่ จึงสร้างสมบูรณ์แบบตามสไตล์วัดจีน ทั้งวิหารด้านหน้า วิหารใหญ่ตรงกลาง วิหารหลัก ยังมีตำหนักปีกอยู่ซ้ายขวา รวมทั้งหอกลอง หอระฆัง นอกจากพระวิหารแล้ว ในวัดยังมีหอเก็บพระไตรปิฎกและราชนิเวศน์ของกษัตริย์เฉียนหลงด้วย

ในวัดมีศิลาจารึกโบราณ 2 องค์ ชื่อศิลาจารึกเคารพพระ เล่ากันว่า มีอยู่วันหนึ่ง เช้าตรู่ จักรพรรดิคังซีทรงพระดำเนินในสวน มองเห็นนกตัวหนึ่ง จึงเสด็จตามเงาของนกไปเรื่อย ๆ แต่ทรงล้มลง เข่ากระแทกกับพื้น เวลานั้น พื้นเป็นดิน ทรงรู้สึกปวดเข่า จึงมีพระราชบัญชาให้ขุดดินออกมาเพื่ออยากทราบว่ามีอะไรฝังไว้ใต้ดินหรือเปล่า ทีแรกขุดไม่พบ แต่พอขุดลึกลงไป ได้พบศิลาจารึกองค์หนึ่ง แกะสลักรูปพระโพธิสัตว์ งานแกะสลักละเอียดมาก จักรพรรดิคังซีจึงดีพระราชหฤทัย ให้นำหมึกมา ลงลายพระหัตต์ข้างหลังศิลาจารึกว่า “เคารพพระ” ทรงให้ตั้งศิลาจารึกองค์นี้ไว้หน้าวัด นักประวัติศาสตร์พิจารณาแล้วยืนยันว่า ศิลาจารึกองค์นี้เป็นผลงานจากราชวงศ์ถัง มีความล้ำค่าอย่างยิ่ง

7.ถ้ำเป่าจู 宝珠洞 หมายถึง ถ้ำอัญมณี ตั้งอยู่ยอดเขาผิงโพ สร้างเมื่อปี 1780 กลางสมัยราชวงศ์ชิง มีวิหาร 2 แห่ง วิหารสำคัญประดิษฐานรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิม หลังวิหาร มีถ้ำที่กว้างประมาณ 4 เมตร ในถ้ำมีหินนานาชนิด ยามต้องแสงเหมือนอัญมณี จึงได้ชื่อว่าถ้ำเป่าจู สมัยก่อนมีพระสงฆ์ปฏิบัติธรรมและมรณภาพที่นี่ ปัจจุบันได้ประดิษบานรูปปั้นพระสงฆ์ที่แกะสลักด้วยหยกขาวไว้ที่นี่

ในปัจจุบัน ถ้ำเป่าจูเป็นสถานที่ชมพระอาทิตย์ขึ้นที่ดีในกรุงปักกิ่ง และสามารถมองได้ไกล มองเห็นกรุงปักกิ่งทั้งเมืองจากทิศน์ ได้ชื่อว่าเป็นภูเขาไท่ซานขนาดเล็กในกรุงปักกิ่ง

8. วัดเจิ้งกั่ว 证果寺 เป็นวัดเก่าที่สุดในสวนปาต้าชู่ เริ่มสร้างในสมัยราชวงศ์ถัง หรือ อาจจะก่อนราชวงศ์ถัง ในวัดมีต้นหวางเหลียนโบราณ มีสระชื่อมังกรเขียว เล่ากันว่า มีมังกรเขียวอยู่ในสระ สิ่งของที่ล้ำค่าอีกอย่างหนึ่งในวัดแห่งนี้คือระฆังทองแดง หล่อขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิง ในปี 1470 ตัวระฆังแกะสลักธรรมะ มีตัวอักษรที่สวยงามมาก

วิธีการเดินทาง

นั่งรถไฟใต้ดิน ลงที่สถานี Pingguoyuan ออกทางออก B จากนั้นให้ขึ้นรถเมล์สาย 972 ต่อไปยังป้าต้าชู่

วันเวลาเปิด-ปิด

ปาต้าชู่เปิดให้เข้าชมทุกวัน บัตรผ่านประตูคนละ 10 หยวน