24 ฤดูกาลจีน 二十四节气

24 ฤดูกาลของจีน 二十四节气 ในช่วงเวลา 12 เดือนหรือ 1 ปี นั้น ตามปฏิทินจีนได้แบ่งออกเป็น 24 ช่วงเวลา หรือ 24 เจียซี่ ( 節氣) โดยจะมี 4 ช่วงเวลาซึ่งตรงหรือใกล้เคียงกับวันสำคัญทางดาราศาสตร์ประจำปี ได้แก่ วสันตวิษุวัต อุตรายัน ศารทวิษุวัต และทักษิณายัน

วิษุวัต หมายถึง ช่วงที่ดวงอาทิตย์อยู่ในตำแหน่งตรงได้ฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลกพอดี ซึ่งจะเกิดขึ้นปีละ 2 ครั้ง หรือในหนึ่งรอบที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ ความเอียงของแกนโลกจะเลื่อนมาอยู่ในระนาบที่ได้ฉากกับตำแหน่งดวงอาทิตย์ ซึ่งวันนั้นกลางวันจะเท่ากับกลางคืน เรียกเหตุการณ์นี้เรียกอีกอย่างว่า “วันราตรีเสมอภาค” หมายถึง เวลาตอนกลางคืนเท่ากับเวลากลางวันพอดี ได้แก่ วสันตวิษุวัต (Vernal Equinox) และ ศารทวิษุวัต (Autumnal Equinox)

  • วสันตวิษุวัต หรือชุนเฟิน ช่วงเวลากลางวันกับกลางคืนยาวเท่ากัน แต่หลังจากวันดังกล่าวช่วงเวลากลางวันยาวขึ้น พลังเอี๊ยง (หยาง) เพิ่มขึ้น
  • ศารทวิษุวัต หรือชิวเฟิน ช่วงเวลากลางวันกลับมาเท่ากับช่วงเวลากลางคืนอีกครั้ง โดยหลังจากนี้กลางคืนจะเริ่มยาว พลังอิม (หยิน) เพิ่มขึ้นแทนเอี๊ยง

อายัน หมายถึง วันที่มีกลางวันยาวนานที่สุด และ วันที่มีกลางคืนยาวนานที่สุด คือ

  • วันครีษมายัน (ครี-สะ- มา-ยัน) หรือ วันอุตรายัน (summer solstice) หรือ วันเซี่ยจื้อในวันนี้โลกจะหันขั้วโลกเหนือเข้าหาดวงอาทิตย์มากที่สุดและหันขั้วโลกใต้ออกห่างดวงอาทิตย์มากที่สุด ทำให้ในซีกโลกเหนือ ถือเป็นวันเริ่มต้นฤดูร้อน ในช่วงกลางวันจะมีเวลายาวนานที่สุด ส่วนทางซีกโลกใต้ จะเป็นวันเริ่มต้นฤดูหนาวจะมีกลางคืนยาวนานที่สุด
  • วันทักษิณายัน หรือ วันเห-มายัน (winter solstice) หรือ วันตงจื้อ ในวันนี้โลกจะหันขั้วโลกเหนือออกห่างจากดวงอาทิตย์มากที่สุดและหันขั้วโลกใต้เข้าหาดวงอาทิตย์มากที่สุด ทำให้ในซีกโลกเหนือซึ่งเป็นวันเริ่มต้นฤดูหนาวจะมีกลางคืนยาวนานที่สุด ส่วนซีกโลกใต้ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นฤดูร้อนจะมีกลางวันยาวนานที่สุด

นอกจากนี้ หากยึดตามองศาดวงอาทิตย์ตามหลักสายนะซึ่งอาศัยฤดูกาลกำหนด โดยกำหนดยึดตามองศาดวงอาทิตย์ที่เปลี่ยนไปช่วงละ 15°  จะเกิดช่วงหรือฤดูกาลรวมทั้งสิ้น 24 ช่วงหรือฤดูกาล ดังนี้

  1. วันลี่ชุน 立春 lìchūn ประมาณวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ของทุกปี องศาดวงอาทิตย์ 315° เป็นวันเริ่มฤดูใบไม้ผลิ อากาศหนาวเริ่มคลายตัวลง สรรพสัตว์บรรดาที่ไม่จำศีลทั้งหลายเริ่มออกหากินอย่างมีชีวิตชีวา สรรพพืชเริ่มแตกกิ่งก้าน
  2. วันหยี่สุ่ย 雨水 yúshuǐ ประมาณวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ของทุกปี องศาดวงอาทิตย์ 330° อวี๋สุ่ยแปลว่าน้ำฝน ในช่วงนี้ฝนจะเริ่มตกในประเทศจีน ถือเป็นช่วงฝนตกส่งท้ายฤดูหนาว
  3. วันจิงเจ๋อ 惊蛰 jīngzhé ประมาณวันที่ 6 มีนาคม ของทุกปี องศาดวงอาทิตย์ 345° ในวันนี้แมลงหรือสัตว์ที่จำศีลอยู่จะเริ่มตื่นขึ้นเพื่อจะออกมาหาอาหาร บรรดาสัตว์ที่จำศึลเริ่มออกจากรัง
  4. วันชุนเฟิน 春分 chūnfēn ประมาณวันที่ 21 มีนาคม ของทุกปี องศาดวงอาทิตย์ 0° เป็นวันกลางฤดูใบไม้ผลิ ตรงกับวันวสันตวิษุวัต วันราตรีเสมอภาค ตามดาราศาสตร์ ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรครั้งแรกของปี คือดวงอาทิตย์ทำมุม 0°  คือเป็นช่วงที่กลางคืนกับกลางวันยาวเท่ากันในฤดูใบไม้ผลิ
  5. วันชิงหมิง 清明 qīngmíng ประมาณวันที่ 5 เมษายน ของทุกปี องศาดวงอาทิตย์ 15° ชิงหมิงหรือภาษาจีนแต้จิ๋ว เรียกว่า เช็งเม้ง  แปลว่าแจ่มใส ในฤดูนี้ที่ประเทศจีน จะมีอากาศเย็น ท้องฟ้าปลอดโปร่ง มีอากาศสดชื่นแจ่มใส ชาวจีนจึงนิยมไปไหว้บรรพบุรุษ ในช่วงเวลานี้ 
  6. วันกู๋หยี่ 谷雨 gúyǔ ประมาณวันที่ 20 เมษายน ของทุกปี องศาดวงอาทิตย์ 30° เป็นช่วงเวลาเริ่มฤดูเพาะปลูก
  7. วันลี่เซี่ย 立夏 lìxià ประมาณวันที่ 6 พฤษภาคม ของทุกปี องศาดวงอาทิตย์ 45° เป็นวันเริ่มต้นฤดูร้อน
  8. วันเสียวหม่าน 小滿 xiáomǎn ประมาณวันที่  21 พฤษภาคม ของทุกปี องศาดวงอาทิตย์ 60° วันนี้เป็นวันที่พืชพรรณเริ่มออกดอก แต่ยังไม่ออกผล ข้าวเริ่มออกรวง
  9. วันหมางจ้ง 芒种 mángzhòng ประมาณวันที่  6 มิถุนายน ของทุกปี องศาดวงอาทิตย์ 75° วันนี้ พืชพรรณเริ่มแข็งแรงและพร้อมเก็บเกี่ยว ชาวจีนจะเตรียมตัวเก็บเกี่ยวและปลูกข้าว พืชพรรณ ธัญพืชใหม่ ในช่วงเวลานี้
  10. วันเซี่ยจื้อ 夏至 xiàzhì ประมาณวันที่ 21 มิถุนายน ของทุกปี องศาดวงอาทิตย์ 90° วันนี้ตรงกับวัน ครีษมายัน ตามดาราศาสตร์ เป็นวันที่กลางคืนสั้นที่สุด กลางวันยาวที่สุดในซีกโลกเหนือ
  11. วันเสียวสู่ 小暑 xiáoshǔ ประมาณวันที่ 7 กรกฎาคมของทุกปี องศาดวงอาทิตย์ 105° ตั้งแต่วันนี้อากาศจะเริ่มร้อน
  12. วันต้าสู่ 大暑 dàshǔ ประมาณวันที่ 23 กรกฎาคมของทุกปี องศาดวงอาทิตย์ 120° ตั้งแต่วันนี้อากาศจะร้อนอบอ้าว
  13. วันลี่ชิว 立秋 lìqiū  ประมาณวันที่ 8 สิงหาคม ของทุกปี องศาดวงอาทิตย์ 135° วันเริ่มฤดูใบไม้ร่วง
  14. วันฉูสู่ 处暑 chúshǔ ประมาณวันที่ 23 สิงหาคม ของทุกปี องศาดวงอาทิตย์ 150° วันสิ้นสุดฤดูร้อน
  15. วันป๋ายลู่ 白露 báilù  ประมาณวันที่ 8 กันยายน ของทุกปี องศาดวงอาทิตย์  165°  เริ่มเข้าสู่ฤดูความหนาวเย็น น้ำค้างเริ่มมีบนใบไม้  
  16. วันชิวเฟิน 秋分 qiūfēn ประมาณวันที่ 23 กันยายนของทุกปี องศาดวงอาทิตย์  180°  เป็นวันราตรีเสมอภาค คือเป็นช่วงที่กลางคืนกับกลางวันยาวเท่ากันในฤดูใบไม้ร่วง ตรงกับวัน ศารทวิษุวัต ตามดาราศาสตร์ ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรครั้งที่สองของปี
  17. วันหานลู่ 寒露 hánlù ประมาณวันที่ 8 ตุลาคม ของทุกปี องศาดวงอาทิตย์ 195°  อากาศเริ่มหนาว น้ำค้างเริ่มเป็นเกล็ดปนน้ำ
  18. วันซวงเจี้ยง 霜降 shuāngjiàng ประมาณวันที่ 23 ตุลาคม ของทุกปี องศาดวงอาทิตย์  210°  น้ำค้างเริ่มแข็งจัด ความหนาวเริ่มได้ที่  เริ่มพบน้ำค้างแข็งบนใบไม้
  19. วันลี่ตง 立冬 lìdōng ประมาณวันที่ 7 พฤศจิกายนของทุกปี องศาดวงอาทิตย์  225°  วันเริ่มต้นฤดูหนาว
  20. วันเสียวเสวี่ย 小雪 xiáoxuě ประมาณวันที่ 22 พฤศจิกายนของทุกปี องศาดวงอาทิตย์  240°  หิมะเริ่มตกในประเทศจีน
  21. วันต้าเสวี่ย 大雪 dàxuě ประมาณวันที่  7 ธันวาคม ของทุกปี องศาดวงอาทิตย์  255°  หิมะเริ่มตกหนัก
  22. วันตงจื้อ 冬至 dōngzhì ประมาณวันที่ 22 ธันวาคม ของทุกปี องศาดวงอาทิตย์  270°  วันเหมายัน (เห-มา-ยัน) ตามดาราศาสตร์ เป็นวันที่กลางคืนยาวที่สุดกลางวันสั้นที่สุดในซีกโลกเหนือ เป็นเทศกาลที่สำคัญหนึ่งของจีน เรียกว่า ตงชิวหรือตงโจ่ย วันเทศกาลขนมบัวลอย
  23. วันเสี่ยวหาน 小寒 xiǎohán ประมาณวันที่ 6 มกราคม ของทุกปี องศาดวงอาทิตย์  285°  อากาศในจีนเริ่มหนาวมากขึ้น
  24. วันต้าหาน 大寒 dàhán ประมาณวันที่  20 มกราคม ของทุกปี องศาดวงอาทิตย์  300°  อากาศในจีน หนาวจัด