เทศกาลฉงหยาง ชมดอกเบญจมาศ และวันผู้สูงอายุจีน

จิ๋วจิ่วฉงหยาง 九九重阳 เทศกาลฉงหยาง 重阳 ตรงกับวันที่ 9 เดือน 9 ตามปฏิทินจีนของทุกปี 

สาเหตุที่เรียกวันนี้ว่าฉงหยาง เนื่องจาก คำว่า ฉง 重 แปลว่าซ้ำ ส่วนเลข 9 เป็นเลขหยาง 阳 ดังนั้นวันที่ 9 เดือน 9 จึงเป็นวันฉงหยาง 重阳 นั่นคือวันที่มีหยาง (เลข 9) ซ้ำกัน หรือเรียกได้ว่าเป็นวันหยางคู่

ในภาษาอังกฤษเรียกเทศกาลฉงหยางว่า Double Ninth Festival

นอกจากนี้คำว่า 99 ในภาษาจีน คือ จิ๋วจิ่ว 九九 ซึ่งมีเสียงพ้องกับคำว่า จิ๋วจิ่ว 久久 ซึ่งแปลว่าอายุยืนยาว

ตั้งแต่ปี 1989 เป็นต้นมา ประเทศจีนจึงได้กำหนดให้วันที่ 9 เดือน 9 ตามปฏิทินทางจันทรคติเป็นเทศกาลผู้สูงอายุ

และเนื่องจากในเดือน 9 ของจีน เป็นฤดูที่ดอกเบญจมาศ ออกดอกอย่างสวยงาม จึงถือว่าวันนี้เป็น เทศกาลชมดอกเบญจมาศอีกด้วย

กิจกรรมในเทศกาลฉงหยาง

ขึ้นเขาสูง ติดใบจูอวี๋ ดื่มเหล้าเบญจมาศ

มีตำนานเกี่ยวกับการขึ้นเขาสูง ติดใบจูอวี๋ 茱萸 และดื่มเหล้าเบญจมาศ จวี๋ฮัวจิ่ว 菊花酒 ไว้ว่า

ในสมัยฮั่นตะวันออก มีปีศาจร้ายปรากฏตัวแล้วทำให้มีคนล้มป่วยเจ็บตาย เหิงจิ่ง ต้องการปราบปีศาจ จึงเดินทางไปแสวงหาผู้วิเศษเพื่อร่ำเรียนวิชามาปราบปีศาจ จนได้คำนับผู้วิเศษท่านหนึ่งเป็นอาจารย์

เหิงจิ่งได้ร่ำเรียนวิชาต่าง ๆ กับอาจารย์ จนวันหนึ่งอาจารย์ของเขาก็ได้บอกเขาว่า ในวันที่ 9 เดือน 9 เมื่อปีศาจจะออกอาละวาด ให้เขากลับไปกำจัดปีศาจ

โดยอาจารย์ของเขาได้มอบใบจูอวี๋ และเหล้าดอกเบญจมาศ พร้อมถ่ายทอดเคล็ดวิชาปราบมารให้

จูอวี๋

เหิงจิ่ง ได้ลาอาจารย์ กลับมาปราบปีศาจ โดยในเช้าวันที่ 9 เดือน 9 เขาได้นำชาวบ้านขึ้นไปบนเขา พร้อมแจกใบจูอวี๋ และเหล้าแช่ดอกเบญจมาศ ให้ชาวบ้านเป็นเครื่องป้องกันตัว

เหล้าดอกเบญจมาศ

ปีศาจ ได้กลิ่นใบจูอวี๋ และเหล้าเบญจมาศ จึงกลัวไม่กล้าทำร้ายชาวบ้าน จากนั้นเหิงจิ่งจึงจัดการปราบปีศาจจนสำเร็จ

นับจากนั้น จึงมีประเพณี ขึ้นเขาดื่มเหล้าดอกเบญจมาศ และติดใบจูอวี๋ไว้กับตัว โดยเชื่อว่าจะช่วยป้องกันสิ่งช่วยร้าย และโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม จุดมุ่งหมายสำคัญของการปีนเขา จริง ๆ แล้วก็เพื่อเป็นการออกกำลังกายให้สุขภาพแข็งแรง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ

อีกทั้งยังเป็นเคล็ดว่า การปีนที่สูงจะทำให้ชีวิตได้เจริญก้าวหน้า ได้เลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้น อีกด้วย

ฉงหยางเกา 重阳糕 ขนมประจำเทศกาลฉงหยาง


ขนมฉงหยาง

ขนมฉงหยาง ฮัวเกา 重阳花糕 เป็นขนมนึ่งที่ทำด้วยแป้งข้าว ตกแต่งด้วยธัญพืช เช่น พุทราจีน ถั่ว ฯลฯ โดยคำว่าเกา 糕 ซึ่งแปลว่าขนมนั้น มีเสียงพ้องกับคำว่า เกา 高 ซึ่งแปลว่า สูง ฉงหยางเกา จึงถือเป็นขนมที่เป็นสิริมงคลประจำเทศกาลฉงหยาง

ดูเพิ่มเติม : บทกลอนวันเทศกาลฉงหยาง