การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน

ท่ามกลางบริบททางการเมืองระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป รัฐบาลในขณะนั้นภายใต้การนำของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี และ พล.ต. ชาติชาย ชุณหะวัณ (ยศขณะนั้น) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ตัดสินใจปรับความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยจัดส่งคณะผู้แทน ซึ่งประกอบไปด้วยข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ อาทิ นายอานันท์ ปันยารชุน นายเตช บุนนาค นายชวาล ชวณิชย์ และนายสุจินดา ยงสุนทร เดินทางไปจีนเพื่อเจรจาเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนระหว่างวันที่ 17-20 มิถุนายน 2518

30 มิถุนายน 2518 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เดินทางไปเยือนจีนนับได้ว่า เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก และเป็นเชื้อพระวงศ์ที่เดินทางไปจีน ภายใต้การปกครองของลัทธิคอมมิวนิสต์ จีนจัดการต้อนรับชนิดยิ่งใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์

นายกรัฐมนตรีไทยได้รับเกียรติอันยิ่งใหญ่ ให้ได้เข้าพบท่านเหมาเจ๋อตุง ประธานพรรคคอมมิวนิสต์ผู้มีอำนาจสูงสุด ซึ่งใช้เวลาพบปะสนทนากันนาน ราว 58 นาที ประธานเหมาเจ๋อตุง แทบไม่เคยให้โอกาสผู้ใดเข้าพบได้นานถึงขนาดนั้น

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ท่านได้มาเล่าขยายความภายหลังว่า

“ก็รู้สึกตื่นเต้น กล้าๆ กลัวๆ อย่างไรชอบกล เมื่อคิดว่าตัวเองจะต้องไปพบกับผู้ยิ่งใหญ่ แห่งคอมมิวนิสต์ของโลก ในฐานะที่เป็นตัวแทนของคนไทย ที่เป็นประชาธิปไตย ก็รู้สึกปอดๆ อยู่เหมือนกัน แต่ครั้นได้พบและสนทนาวิสาสะกับจอมโจกคอมมิวนิสต์ของโลกแล้ว ก็รู้สึกว่าไม่มีอะไรที่น่ากลัวเลย”

บทความของนักข่าวที่ติดตามไปบันทึกว่า

…คณะของเราออกเดินทางจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2518

ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2518 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ได้เข้าพบกับนายโจวเอินไหล นายกรัฐมนตรีของจีน แม้จะอยู่ระหว่างการพักรักษาตัว เนื่องจากเจ็บป่วย แต่ฝ่ายจีนก็ยังให้เกียรติ อนุญาตให้เข้าพบที่โรงพยาบาล และท่านก็มีน้ำใจต้อนรับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เป็นอย่างดี ได้ลงนามในหนังสือสัญญาพันธไมตรี ระหว่างไทยกับจีนเป็นที่เรียบร้อย…

แม้ นายกรัฐมนตรีไทยจะเดินทางมาถึงกรุงปักกิ่งแล้ว แต่ก็ยังไม่มีกำหนดการที่แน่ชัดว่า วันเวลาใดจึงจะได้เข้าพบท่านประธานเหมาเจ๋อตุง

วันที่ 2 กรกฎาคม 2518 รัฐบาลจีนโดยท่าน รอง นายกรัฐมนตรีเติ้งเสี่ยวผิง ได้นำ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์และคณะไปเยี่ยมเยียนชนเผ่าต่างๆ ที่อยู่ในประเทศจีน ซึ่งบางพวกก็พูดภาษาไทย (เหนือและอีสาน) ได้ชัดเจนและถูกต้อง

“ขณะกำลังเพลิดเพลินอยู่กับการส่งภาษาพื้นถิ่น ก็ปรากฏว่ามีรถยนต์ของทางราชการได้แล่นเข้ามาจอด เจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งเข้าไปรายงานต่อนายเติ้งเสี่ยวผิง ซึ่งกำลังนำ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์พบปะกับชนเผ่าต่างๆ อยู่ แล้วรายงานว่า
…ท่านประธานเหมาเจ๋อตุงให้นายกรัฐมนตรีของไทยเข้าพบในวันนี้เวลาก่อนเที่ยงวัน

เมื่อเกิดมีกำหนดการอย่างกะทันหันเช่นนี้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ก็ต้องละราชการ เยี่ยมเยียนชนเผ่าต่างๆ ในทันที ปล่อยให้คณะผู้ติดตามและผู้สื่อข่าว ได้เยี่ยมเยียนชนเผ่าต่างๆ ต่อไป ตัวท่านปลีกตัวออกมา โดยไม่บอกให้คณะรู้ ปิดเป็นความลับ ด้วยเกรงว่าผู้สื่อข่าวจะติดตามไป

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ไม่รู้เนื้อรู้ตัวมาก่อนว่าจะได้เข้าพบท่านประธานเหมา ขณะนั้นท่านแต่งตัวแบบลำลอง เพราะกำลังเยี่ยมเยียนชนเผ่าต่างๆ จึงต้องรีบกลับไปยังที่พักเพื่อเปลี่ยนเครื่องแต่งตัว

ตัวผมเองตกใจว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์จะรีบร้อนไปไหน เพราะได้เห็นท่านออกเดินอย่างเร็วจนเหมือนวิ่ง เมื่อท่านผ่านหน้าผม ก็พูดกับผมเบาๆ อย่างอารมณ์ดีว่า “ฮ่องเต้มีรับสั่งให้เข้าพบแล้ว”

ผมได้ทราบในภายหลังว่าคณะที่เข้าพบท่านประธานเหมาเจ๋อตุงนั้น ประกอบด้วย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ พล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ รมว.การต่างประเทศ นายอานันท์ ปันยารชุน ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เล่าต่อว่า “สถานที่ที่ผมเข้าไปพบประธานเหมานั้น ทางการจีนเรียกกันว่า หอสมุด…

นายกรัฐมนตรีไทยเล่าเรื่องต่อว่า…

“ผมหันมาถามคุณชาติชาย (พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ) ที่เดินตามหลังเข้ามาว่า จะเอายังไง จะสู้หรือจะถอย..
คุณชาติชายบอกว่า ไม่ได้ ถอยไม่ได้ ต้องใจกล้าไว้ครับท่านนายกฯ เรามาถึงอย่างนี้แล้ว เอาเลย ผมก็เดินเข้าไป…

“ตอนนั้นล่ามยังไม่มาถึงครับ ท่าน (เหมาเจ๋อตุง) ก็รี่เข้ามาจับมือผม แล้วก็ร้องโฮก ๆ แต่คราวนี้หลายโฮกเหลือเกิน และดังเสียด้วย ต่อจากนั้นก็จับมือผมเขย่าแล้วเขย่าอีก และเขย่าแรงๆ เสียด้วย เสร็จจากการโฮกและเขย่ามือกับผมแล้ว ก็จับมือคุณชาติชายเขย่าบ้าง แล้วก็ร้องโฮกสองหน

“พอดีตอนนั้นล่ามมาถึงแล้ว จึงแปลความหมายที่ท่านประธานเหมาพูดว่า …ไอ้หนู (หมายถึง พล.ต.ชาติชาย) นี่เคยมาเมืองจีนแล้วไม่ใช่หรือ คุณชาติชายก็ตอบผ่านล่ามว่า เคยมาแล้ว ท่านก็พูดต่อไปว่า ถ้าจะชอบเมืองจีนละซินะจึงมาอีก คุณชาติชายก็ตอบว่า ชอบมากครับ

“ท่านประธานเหมานั่งเต็มเก้าอี้แบบคนใหญ่คนโต ไอ้ผมมันเด็กนี่ ก็ต้องนั่งขอบเก้าอี้ ผมไม่ได้นั่งเต็มเก้าอี้และไขว้ขา หรือไขว่ห้างคุยกับท่าน อย่างคนประเทศอื่นๆ เขาปฏิบัติและชอบทำ ผมนั่งเอาก้นแตะเก้าอี้ แล้วก็ประสานมือแบบเคารพ หรือจะว่าแบบเล่าปี่ไปหาขงเบ้งนั่นแหละ ผมรู้สึกว่าท่านพอใจมากทีเดียว แล้วท่านก็เริ่มพูดขึ้นก่อน”

เหมาเจ๋อตุง เริ่มการทักทายว่า “ท่านนายกฯไทย มาหาคอมมิวนิสต์อย่างข้าพเจ้า ไม่รู้สึกกลัวหรือ”
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ตอบว่า “หามิได้ ข้าพเจ้าเลื่อมใสท่านประธานมานานแล้ว ข้าพเจ้ามิใช่คอมมิวนิสต์ แต่ข้าพเจ้ามาหาเพื่อน”

ประธานเหมาท่านชมว่า ที่ลื้อไปให้สัมภาษณ์ไว้ที่ฮ่องกง ก่อนมาถึงปักกิ่งนั้นถูกต้องแล้ว ท่านเห็นด้วย

“ผม (ม.ร.ว.คึกฤทธิ์) ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่ฮ่องกงคืนก่อนที่จะเข้าประเทศจีน ผมพูดว่า รัฐบาลไทยก็ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ แต่มีผู้ก่อการคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยมาก ผมจึงได้มาผูกสัมพันธไมตรี กับประเทศจีนคอมมิวนิสต์…”

“ผมก็ตอบหนังสือพิมพ์ว่า ไอ้เรื่องลัทธิคอมมิวนิสต์นั้นน่ะ เป็นเรื่องของพรรคการเมือง แต่การไปผูกไมตรีกับประเทศจีน มันเป็นเรื่องรัฐบาลต่อรัฐบาล ไม่ได้คำนึงถึงพรรค มันเป็นเรื่องของประชาชนจีน กับประชาชนไทย ไม่ได้คำนึงถึงลัทธิ ผมจึงไปประเทศจีนด้วยเหตุนี้”

“แล้วต่อจากนั้นผมก็บรรยายความว่า ผมมาประเทศจีนด้วยความสมัครรักใคร่ อยากผูกสัมพันธไมตรี ประเทศไทยกับประเทศจีน เป็นมิตรไมตรีกันมาช้านาน เป็นเวลาหลายพันปี มีเหตุการณ์บางอย่าง ทำให้ไมตรีสะดุดหยุดลง บัดนี้ผมจะมาขอเริ่มใหม่ อะไรๆ ก็ว่ากันไปตามอย่างนั้นแหละครับ

ท่านก็ร้องห่าว ๆ ตลอดเวลา…

“ห่าว ภาษา (จีน) แมนดาริน ก็แปลว่า ฮ้อ นี่แหละ ท่านห่าวมา ผมก็ห่าวไป …ผมก็บอกท่านว่า แหม ท่านประธานยังแข็งแรงอยู่นะ ท่านก็บอกว่า โอ๊ย ไม่จริงหรอก แก่เต็มทีแล้ว เวลานี้ทำอะไรไม่ได้แล้ว ต้องมานั่งรับราชการกินเงินเดือนเขา

“ท่านก็บอกว่าใช่ เวลานี้เป็นข้าราชการประจำกินเงินเดือนหาเลี้ยงชีพไป…แล้วท่านก็บอกว่า อีกหน่อยก็ตายแล้วละ คนแก่ขนาดนี้ มันจะไปอยู่ยั่งยืนสักแค่ไหน…

“ผมก็บอกกับท่านว่า ท่านประธานตายไม่ได้นะ เพราะโลกไม่สามารถที่จะสูญเสียผู้ร้ายนัมเบอร์วันของโลกได้”

ท่านก็ดีใจ หัวร่อลงคอ จับมืออีกครั้ง ท่านชอบใจ อยากเป็นผู้ร้ายนัมเบอร์วัน เรื่องผู้ร้ายนัมเบอร์วันนั้น ท่านได้พูดมาก่อน

“ในเรื่องของคอมมิวนิสต์นั้น ท่านประธานเหมาสอนผมว่า อย่าไปกลัวมัน ท่านบอกว่า อย่าไปรบกับมัน
พวกคอมมิวนิสต์น่ะ เพราะถ้ามันตายกันมาก ๆ มันก็ยิ่งมาตายกันอีกไม่รู้จักหมด เพราะมันอยากดังอะไรอย่างนี้

ท่านก็สอนผม “ให้กำจัดคอมมิวนิสต์” คือทำให้ชาวบ้านชาวเมืองเขามีกินมีใช้ อย่าไปกลัวเลยคอมมิวนิสต์ มันมีไม่กี่คนหรอกฯ…”

บทสนทนาข้างต้น คือ นาทีแห่งประวัติศาสตร์ ที่ทำให้สถานการณ์การสู้รบดุเดือดในประเทศไทยเริ่มคลายตัวลง

พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา ซึ่งร่วมเดินทางไปกับคณะด้วย ได้เล่าถึงการเจรจาระหว่างเติ้งเสี่ยวผิง ซึ่งเป็นเจ้าภาพแทนนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหล ซึ่งป่วยกับ นายกรัฐมนตรีไทยว่า

“เติ้งเสี่ยวผิง ยืนยันว่าจีนไม่คิดรุกรานหรือคุกคามไทย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ตอบว่า “ให้จีนเขียนคำดังกล่าวในล็อกเกต จะเอาไปให้เด็กไทยห้อยคอ เติ้งเสี่ยวผิงหัวเราะชอบใจ”

การเจรจาประสบความสำเร็จด้วยดี และนำไปสู่การร่วมลงนามใน “แถลงการณ์ร่วมสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ” กับนายโจวเอินไหล นายกรัฐมนตรีจีน ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2518 นับเป็นการเปิดศักราชความสัมพันธ์ทางการทูตของทั้งสองประเทศอย่างเป็นทางการ

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ และโจวเอินไหล
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ และเหมาเจ๋อตุง

เอกอัครราชฑูตคนแรก

ม.ร.ว.เกษมสโมสร เกษมศรี เอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศจีนคนแรก (1975-1979)

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ให้เหตุผลในการเลือก ม.ร.ว.เกษมสโมสร เกษมศรี เป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปักกิ่งคนแรก ว่า “คุณชายเป็นเชื้อพระวงศ์ คงไม่เป็นคอมมิวนิสต์”

นายไฉเจ๋อหมิน 柴泽民 เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยคนแรก (1976-1978)

ในขณะที่รัฐบาลจีนแต่งตั้งให้นายไฉเจ๋อหมินเป็นเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยคนแรก โดยได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เพื่อถวายอักษรสาส์นตราตั้งเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2519

ที่มา : กระทรวงการต่างประเทศ | Matichon | นิตยสารสารคดี