วันมังกรเชิดหัว

วันมังกรเชิดหัว หรือ หลงไถโถว 龙抬头 เกิดขึ้นในวันที่ 2 เดือน 2 ตามปฏิทินจีน ดังนั้น ในบางครั้งจึงเรียกวันนี้ว่า เทศกาลวันที่ 2 เดือน 2

เชื่อกันว่าในฤดูหนาว มังกร ก็เป็นเช่นเดียวกับสัตว์อื่น ที่มีการจำศีล ในช่วงฤดูหนาว พอใกล้กับเทศกาลจิงเจ๋อ 惊蛰 หรือในช่วงวันแมลงตื่น ซึ่งเป็นวันที่แมลงต่าง ๆ เริ่มออกจากการจำศีล ในช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิ เหล่าแมลงก็อาจมาทำลายพืชผลทางการเกษตรที่เริ่มเพาะปลูก ดังนั้น เทศกาลมังกรเชิดหัว จึงเป็นการเชิญเทพมังกรมาขับไล่เหล่าหนอน แมลง ที่เป็นศัตรูพืช

อีกทั้ง ชาวจีนเชื่อว่าเทพมังกร เป็นเทพที่ให้ฝน ในยามหน้าแล้ง ชาวจีนจะทำพิธีขอฝนจากเทพเจ้ามังกร ดังนั้นการบูชาเทพมังกรจึงถือเป็นเคล็ดว่าขอให้ฝนฟ้าเป็นไปตามปกติ

มีตำนานเรื่องเล่าหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องกับเทพมังกร เทพผู้บันดาลฝนไว้ว่า เมื่อบูเช็คเทียนปลดโอรสตนเองจากตำแหน่ง และสถาปนาตนเองเป็นฮ่องเต้ เง็กเซียนฮ่องเต้ทรงพิโรธ จึงให้เทพไท่ไป๋จินซิง หรือเทพดาวพระศุกร์ นำพระราชโองการไปแจ้งให้แก่พญามังกรทั้ง 4 มหาสมุทรให้หยุดการให้ฝน 3 ปี ทำให้เดือนร้อนแสนสาหัส แม้จะมีการบวงสรวงขอพรจากเทพยดาทั้งหลาย แต่ก็ไม่มีเทพองค์ใดกล้าขัดคำสั่ง

พญามังกรสงสารเหล่ามนุษย์ จึงบันดาลให้เกิดฝนตก ทำให้ผู้คนรอดตายจากการขาดน้ำ แต่ก็ทำให้เง็กเซียนฮ่องเต้ทรงพิโรธ สั่งให้เทพไท่ไป๋จินซิง นำพญามังกรไปขังไว้ใต้ภูเขาใหญ่ และมีแผ่นป้ายจารึกไว้ด้านหน้าข้อความว่า

พญามังกรให้ฝนฝ่าฝืนกฎสวรรค์ จึงต้องลงโทษ และจะกลับคืนสรวงสวรรค์ได้ก็ต่อเมื่อถั่วทองผลิดอกออกมา

แต่ทั่วหล้านั้น ไม่มีถั่วทอง จนกระทั่งเมื่อถึงวันที่ 1 เดือน 2 มีหญิงชราแบกถุงข้าวเปลือกออกมาขาย แต่เชือกผูกปากถุงหลุดออก ปรากฎเป็นข้าวสีเหลืองทอง จึงมีผู้มีปัญญาตีความว่า ข้าวเปลือกสีเหลืองทองนี้ก็คือถั่วทอง หากนำเมล็ดข้าวเปลือกนี้ไปคั่วก็จะกลายเป็นข้าวตอก ดั่งเช่นกับความหมายที่ว่า “เมื่อถั่วทองผลิดอก”

ดังนั้น เมื่อถึงวันที่ 2 เดือน 2 ทุกบ้านจึงพากันคั่วข้าวตอก นำไปวางไว้ที่ภูเขาที่พญามังกรถูกทับอยู่ เทพไท่ไป๋จิงซิน เห็นว่าเป็นถั่วทองผลิดอก จึงปล่อยพญามังกรออกมา ในวันนี้จึงเป็นวันที่พญามังกรเชิดหัว กลับคืนสู่สรวงสวรรค์

จากเรื่องเล่านี้ จึงกลายเป็นประเพณีคั่วข้าวตอก ประจำเทศกาลหลงไถโถว