การเขียนพู่กันจีน 书法

การเขียนพู่กันจีน ซูฝ่า 书法 ถือเป็นหนึ่งใน 4 ศิลปะจีน โดยการเขียนพู่กันจีนนั้นมีประวัติความเป็นมายาวนาน การเขียนอักษรจีนนั้นไม่เพียงแต่การใช้พู่กันจุ่มหมึกเขียนตัวอักษรเท่านั้น แต่ผู้เขียนจะต้องรู้ความหมายของตัวอักษร มีสมาธิในการเขียนตัวอักษร

การเขียนพู่กันจีน จะต้องใช้ 4 สิ่งล้ำค่าในห้องหนังสือ ประกอบด้วย

พู่กันจีน เหมาปี่ 毛笔 ถือเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญที่สุดในการเขียนตัวอักษรจีน พู่กันจีนจึงมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะจากการนำขนสัตว์มาใช้ทำพู่ อย่าง ขนกระต่าย ขนแพะ หรือขนสุนัขจิ้งจอก ซึ่งทำให้ลายเส้นขณะเขียนมีความละเอียดมากกว่า ส่วนของด้ามจับมักนิยมทำมาจากไม้ไผ่

กระดาษ จื่อ 纸 ถูกคิดค้นโดยชาวจีนมาตั้งแต่สมัยโบราณ ในสมัยราชวงศ์ถังและซ่งได้มีการผลิตกระดาษชนิดพิเศษออกมา ซึ่งมีคุณสมบัติ มีเนื้อสีขาว นุ่ม ละเอียด กระจายหมึกได้สม่ำเสมอ ชัดเจน และไม่เปื่อยง่าย เหมาะแก่การนำมาใช้เขียนพู่กันจีน

หมึกสีดำ ม่อ 墨 ทำมาจากเขม่าที่เกิดจากการเผาไม้สน และน้ำมันที่นำมาปั้นเป็นก้อนหรือแท่ง เพื่อนำมาฝนกับที่ฝนน้ำหมึก 

แท่นฝนหมึก เยี่ยน 砚 เป็นแท่นหินทำมาจากหินเนื้อละเอียด นิยมนำมาแกะสลักเพื่อเพิ่มความสวยงาม วิธีใช้คือนำน้ำมาหยดใส่บนแท่นฝนหมึกเล็กน้อย จากนั้นจึงนำแท่งหมึกมาฝนจนได้ความเข้มข้นของหมึกตามต้องการ

การสร้างตัวอักษรจีน 4 วิธี

1 เซี่ยงสิง 象形 การสร้างอักษรจีนโดยเลียนแบบตามรูปร่างลักษณะ ของสิ่งต่าง ๆ เช่น 日 ดวงอาทิตย์ รูปร่างกลม 月 ดวงจันทร์ รูปร่างโค้ง ดังเช่นพระจันทร์เสี้ยว

2 จื้อซื่อ 指事 การสร้างตัวอักษรโดยการเติมสัญลักษณ์ เครื่องหมาย หรือสร้างสัญลักษณ์ขึ้นมาใหม่เพิ่มเติมจาก เซี่ยงสิง เช่น刃 ใบมีด มีการเติมจุด ให้กับ 刀 เตา คือ มีด บ่งบอกถึง ตำแหน่งที่มีคมมีดอยู่ จึงหมายความว่าคมมีด

3 ฮุ่ยอี้会意 คือ การนำเซี่ยงสิง 象形 มาประกอบเข้าไว้ ด้วยกัน เป็นคำที่มีความหมายใหม่แบบ เช่น 明 แสงสว่างเป็นการนำคำว่า 日 ดวงอาทิตย์ และ 月 ดวงจันทร์ มารวมด้วยกัน

4 สิงเซิง 形声 เป็นการใช้ส่วนที่บอกความหมาย สิงผาง 行旁 กับส่วนที่บอกเสียงอ่าน เซิงผาง 声旁 มาประกอป กันเป็นตัวอักษรใหม่ เช่น 湖 ส่วนที่บอกความหมาย คือ ซานเตี่ยนสุ่ย มีความเกี่ยวข้อง กับน้ำ 胡 เป็นตัวบอกเสียงอ่านว่า “หู” เมื่อมารวมกันจะหมายถึง แม่น้ำหู

พัฒนาการของการเขียนอักษรจีน

อักษรจีนโบราณ

อักษรกระดองเต่า เจี่ยกู่เหวิน 甲骨文 เป็นอักษรโบราณที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด มักพบบนกระดองเต่าหรือกระดูกสัตว์ โดยการใช้มีดแกะสลักลงไปเป็นอักษรภาพ มีมาแต่สมัยราชวงศ์ซาง ถือเป็นต้นกำเนิดของอักษรภาษาจีนในปัจจุบัน

อักษรโลหะ จินเหวิน 金文 พบในภาชนะทองเหลืองหรือสําริด ในยุคสมัยราชวงศ์ซาง ถึงราชวงศ์โจว เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า จงติ่งเหวิน 钟鼎文 เนื่องจากเป็นตัวอักษรที่พบที่ จง 钟 คือ ระฆัง ติ่ง 鼎 คือภาชนะสามขาใช้สำหรับการบูชาเทพเจ้า

จ้วนซู 篆书 อักษรจ้วน เกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์ฉิน ภายหลังจากที่ จิ่นซีฮ่องเต้ รวมแผ่นดินจีนให้เป็นหนึ่งเดียว ได้มีการจัดระเบียบตัวอักษรให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ถือเป็นอักษรที่ใช้ทั่วประเทศจีนเป็นครั้งแรก ลักษณะจ้วนซู จะมีขนาดตัวอักษรสมํ่าเสมอเท่ากัน

อักษรจีนยุคปัจจุบัน

ลี่ซู 隶书 อักษรลี่ซู ใช้ในสมัยราชวงศ์ฮั่น เรียกว่า ฮั่นลี่ 汉隶 ลักษณะของลี่ซู จะเปลี่ยนจากลักษณะอักษรที่กลมมน ของจ้วนซู มาเป็นลักษณะเป็นเหลี่ยมหักมุมที่คมชัดขึ้น

ข่ายซู 楷书 อักษรข่ายซู คือตัวอักษรบรรจง ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เจินซู 真书 หรือเจิ้งซู 证书 มีต้นกําเนิดในยุคปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออก มีรูปร่างเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขีดของอักษรเป็นระเบียบ เส้นพู่กันชัดเจน พัฒนามาจากพื้นฐานตัวอักษรแบบ ลี่ซู 隶书 และ เฉ่าซู 草书

การผสมผสานของรูปแบบอักษรจีน

เฉ่าซู 草书 อักษรเฉ่าซู คือ อักษรหวัด 草 หมายถึง อย่างหยาบ ไม้เน้นลำดับขีดตัวอักษรจีน เมื่อเปรียบเทียบกับตัวอักษรบรรจง ซึ่งมีขีดหลายเส้น แต่เฉ่าซู สามารถย่นย่อให้เหลือเพียง 2-3 ขีดเป็นตัวอักษร

สิงซู 行书 อักษรสิงซู อักษรหวัดแกมบรรจง เกิดขึ้นในราวปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออกถึงในสมัยราชวงศ์ เว่ย-จิ้น เป็นตัวอักษรที่รวบรวมเอาจุดเด่นของอักษร ข่ายซู 楷书 และ เฉ่าซู 草书 เข้าไว้ด้วยกัน คือไม่ประณีตบรรจงเท่าข่ายซู 楷书 และไม่หวัดเท่าเฉ่าซู 草书